"อดุลย์" จับมือ "จรัมพร" สร้างพฐ.อาเซียน คลี่คดีลึกลับซับซ้อน
จะต้องเพิ่มศักยภาพของงานนิติวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพในด้านวิทยาการและเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะการพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์จะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ปัจจุบันเครื่องมือและสถานที่มีจำกัด จึงต้องอาศัยความร่วมมือทุกองค์กรบูรณาการเครื่องมือมาช่วยสนับสนุนงานสืบสวน สอบสวนและอำนวยความยุติธรรม ในการประชุมตำรวจอาเซียนที่ไทยได้เสนอจัดตั้ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสนับสนุนให้ประเทศไทยจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางระดับอาเซียน โดยมีแผนพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยจะเน้นประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ยืนยันนโยบายความสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ต้องยอมรับว่าในการคลี่คลายคดีสำคัญหลายคดีมีผลมาจาก งานพิสูจน์หลักฐาน หรืองานนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) เป็นศาสตร์แห่ง สหวิทยาการ และ สหวิชาชีพ
ต้องนำองค์ความรู้จากวิทยาการในสาขาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา มาเป็นกลไกในการตรวจพิสูจน์ ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากแพทย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ
ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้ให้ความสำคัญกับงานนิติวิทยาศาสตร์ ได้ให้ พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร.เข้ามากำกับดูแลประสาน พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น ผบช. สพฐ.ตร.พัฒนาระบบและเครื่องมือการตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดี
ตลอดช่วงไม่กี่ปีตั้งแต่ พล.ต.ท.จรัมพร เข้ามา สพฐ.ตร. มีส่วนสนับสนุนคลี่คลายคดีนับไม่ถ้วนเพราะหลักคิดที่ต้องการให้งานตรวจพิสูจน์สนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนคดี
ทำให้งานนิติวิทยาศาสตร์มีประโยชน์สูงสุดต่องานสืบสวนและสอบสวน อำนวยความยุติธรรมหลายคดีที่เป็นข้อสงสัยจากสังคมได้หลักฐานด้านวิทยาการชี้ทางให้สืบหาสาเหตุ และจับกุมคนร้าย
ตั้งแต่ปมปริศนา น.ส.ศศิธร หรือปิ๊ก อ่อนวิมล อดีตสาว FHM เสีย ชีวิตในห้องพักย่านห้วยขวาง มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต ซึ่งเป็นคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตสงสัยการสรุปประเด็นการเสียชีวิตของตำรวจ ที่ระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย พล.ต.ท.จรัมพรได้ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์สร้างภาพ 3 มิติตอบข้อสงสัยญาติผู้เสียชีวิต และคดียิง น.อ.วุฒิชัย บุญญฤทธิ์ นายทหารสังกัดกรมกำลังพลทหารเรือเสียชีวิตที่ได้ภาพจำลองเหตุการณ์วิถีกระสุน การจำลองเหตุการณ์ใช้กล้อง 3D Laser scaning เป็นพยานหลักฐานทำให้ศาลเชื่อว่า ร.ต.อ.เจษฎา เตภรณ์ รอง สว.สส.สน.ห้วยขวาง เป็นผู้กระทำผิด
หรือคดีจับกุม นายภัคพงศ์ หรือแจ็ก ดินม่วง ผู้ต้องหายิง ด.ต.ชูกิจ เจริญธนารักษ์ ผบ.หมู่ ป.สน.หนองแขม เสียชีวิต เป็นคดีที่ปิดได้จากผลตรวจดีเอ็นเอที่กระสุนปืนตรงกับผู้ต้องหาและร่องรอยกระสุนปืนที่มีการบรรจุยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นจินตนาการของผู้ต้องหาเลียนแบบภาพยนตร์
ทุกคดีล้วนได้รับการชี้เบาะแสหรือ จินตนาการ จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
การที่จะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นอำนาจหน้าที่ของศาล แต่ศาลมิได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง การใช้ดุลพินิจของศาลต้องอาศัยพยานและหลักฐานตามที่ฝ่ายผู้กล่าวหาคือ ตำรวจ เรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับความยุติธรรมมิได้ปรากฏเป็นภาพต่อที่ชัดเจนเสมอไป
เรื่องจริง กับ พยานหลักฐาน จะมีความสัมพันธ์ต่อการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตัดสินโทษใน 4 แนวทาง คือ 1. เรื่องจริง แต่ไม่มีหลักฐานหรือหลักฐานอ่อน...คนชั่วลอยนวล 2. เรื่องจริง มีหลักฐาน...ชดใช้กรรม 3. เรื่องจริง แต่เสริมแต่งหลักฐาน...สังคมเคลือบแคลง และ 4. เรื่องไม่จริง แต่สร้างหลักฐาน...แพะรับบาป
อาวุธทางความคิดเป็นสิ่งที่แสวงหาได้จากตัวนักวิทยาศาสตร์เองเป็นหลักคิด 3 ประการ 1.คิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific aaysis) เป็นการคิดจากพื้นฐานวิชาการที่เรียนรู้มา เป็นการวิเคราะห์วัตถุพยานตามหลักการวิทยาศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์รูปแบบ DNA วิเคราะห์แยกแยะสารเคมี วิเคราะห์การลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าจากเส้นลวดทองแดงที่พบในสถานที่เกิดเหตุ
2.คิดวิเคราะห์ทางคดี (Case aaysis) จากแนวทางการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ หากเป็นงานศึกษาวิจัยธรรมดา การทำหน้าที่แบบผู้ปฏิบัติงานในห้อง Lab หรือเรียกว่า Lab Boy สามารถทำให้งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ แต่ในเรื่องของอาชญากรรมการคิดวิเคราะห์ทางคดี
การวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของคนร้าย การเชื่อมโยงวัตถุพยานกับตัวบุคคลผู้เข้ามาเกี่ยวข้องในที่เกิดเหตุ เพื่อยืนยันพฤติการณ์และตัวบุคคล เป็นสิ่งที่พนักงานสอบสวนต้องการอย่างยิ่ง
การสรุปสำนวนการสอบสวน การทำความเห็นทางคดี พนักงานสอบสวนต้องรู้จักการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมบุคคล เช่นการตรวจพบปลอกกระสุนใน 2 คดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน แม้จะยืนยันว่ายิงมาจากปืนกระบอกเดียวกันของผู้ต้องสงสัย ก็อาจทำให้เจ้าของปืนดิ้นว่าคนอื่นเอาปืนไป แต่หากได้ DNA ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์เฉพาะบุคคลจากบนตัวปืน จะทำให้มีหลักฐานที่จะมัดตัวคนยิงได้มั่นคง
3. คิดแบบจินตนาการ (Imagination) การได้วัตถุพยานหลายชิ้นแทนที่จะช่วย อาจทำให้นักสืบและพนักงานสอบสวนเกิดความสับสนไขว้เขวหากไม่รู้จักเชื่อมโยงหลักฐานเข้ากับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การคิดแบบมีจินตนาการ คือ คิดเยี่ยงคนร้าย ตอนกระทำน่าจะทำอย่างไร จึงปรากฏหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ เช่น การพบรอยรองเท้าที่มีน้ำหนักกดไม่เท่ากัน หรือเต็มเท้าข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งไม่เต็มเท้า อาจจินตนาการคนร้าย ไม่ขาเจ็บ ก็มีความผิดปกติทางร่างกาย (พิการ) หรือการดูรอยเข็มแทงชนวนที่จานท้าย ปลอกกระสุนมีลักษณะไม่เหมือนกับรอยเข็มแทงชนวนของปืนทั่วๆไป อาจต้องฉุกคิดว่าคนร้ายอาจมีการแต่งปืน แล้วผู้ที่แต่งปืนอาจจำกัดวงไปที่นักยิงปืน
จุดแตกหักของงานพิสูจน์หลักฐานอยู่ที่ สถานที่เกิดเหตุ การสืบสวนจากที่เกิดเหตุ
ความสมบูรณ์ของพยานหลักฐานขึ้นอยู่กับ 1. การรักษาสถานที่เกิดเหตุ ต้องป้องกันการเหยียบย่ำ ทำลาย ร่องรอยวัตถุพยาน ไม่ไปทำให้เกิดการปนเปื้อน หรือเพิ่มวัตถุพยานจากเจ้าหน้าที่เอง ป้องกันคนภายนอกเข้าที่เกิดเหตุ 2.การตรวจเก็บวัตถุพยาน ผู้เก็บต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการปนเปื้อน หรือเพิ่มเติมวัตถุพยานหลักฐาน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญ การเก็บวัตถุพยานต้องสวมถุงมือ สวมหมวกหรือถุงคลุมศีรษะ เพื่อกันเส้นผมของผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุตกหล่น เพิ่มวัตถุพยานลงไปในที่เกิดเหตุ
3.การรักษาวัตถุพยาน วัตถุพยานที่เก็บรวบรวมได้ต้องมีวิธีเก็บที่ถูกต้อง แยกถุง ระบุรายละเอียด ป้องกันรักษาวัตถุพยาน เช่น การเก็บ DNA ต้องไม่นำไปตากแดด ต้องเก็บไว้ในกล่องกระดาษเพื่อให้แห้งลม (Aridry) ไม่เป่าให้แห้งเพราะ DNA จากน้ำลายผู้เป่าจะเข้าไปปนเปื้อน เป็นต้น 4. ลำดับการครอบครองวัตถุพยาน (Chain of Custody) ตั้งแต่การเก็บวัตถุพยานจนถึงศาล ต้องระบุที่มาที่ไปได้อย่างไม่ขาดช่วง ตั้งแต่เริ่มทำแผนที่เกิดเหตุ ระบุตำแหน่งวัตถุพยาน การเก็บแยกภาชนะบรรจุ การส่งตรวจพิสูจน์ และการออกรายงานผลการตรวจวิเคราะห์
งานนิติวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนเพื่อการยอมรับ จะต้องประกอบด้วย ประสิทธิภาพ มีความแม่นตรง และรวดเร็ว ความโปร่งใส ทำตาม กระบวนการ ขั้นตอนตามวิชาการที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิเคราะห์ หรือเปรียบเทียบและตรวจสอบได้ ตรวจสอบย้อนกลับได้ มีที่มาที่ไปเช่นเดิมเสมอ
ระบบฐานข้อมูล เป็นสิ่งที่ทำให้งานนิติวิทยาศาสตร์มีเสน่ห์ มีผลงานนอกเหนือจากมีเครื่องมือที่ดี และคนเก่ง ยังต้องมี ระบบฐานข้อมูล ซึ่ง สพฐ.ตร. ทั้งฐานข้อมูลระบบพิมพ์นิ้วมือ ฐานข้อมูล DNA ฐานข้อมูลปืนและกระสุนปืน ฐานข้อมูลรอยเครื่องมือ (Toolmarks) และฐานข้อมูลวัตถุระเบิด
ที่ผ่านมาได้ให้คำแนะนำกลุ่มนักวิทยา-ศาสตร์ให้ทำอะไรมากกว่าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และมีการนำไปปฏิบัติทำให้เป็นการเพิ่มศักยภาพในตัวงานนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทุกคนมีภูมิปัญญาที่ดีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าเพิ่มส่งผลต่องานพิสูจน์หลักฐานทั้งระบบ
ตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบได้ให้ความสำคัญนักวิทยาศาสตร์ สถานที่เกิดเหตุและความโปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้สื่อเรียกว่า CSI Thailand นอกจากมีมูลค่าเพิ่มแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะภาคภูมิใจและเกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน ให้มีความสมบูรณ์เป็นที่มาเชื่อมั่นศรัทธางานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและไม่ได้จำกัดเฉพาะองค์กรตำรวจ แต่ได้สร้างเครือข่ายงานนิติวิทยาศาสตร์กับหน่วยงานอื่น ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นหลักประกัน ในการอำนวยความยุติธรรม คิดว่าในปี 2558 ประเทศไทยเปิดกว้างรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ประสานสร้างแนวคิดกลุ่มประเทศในอาเซียน เพราะการที่เรามีเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลนอกจากจะช่วยต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกัน จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางต่อระหว่างประเทศ ลำพังงานนิติวิทยาศาสตร์ในไทยไม่เพียงพอต้องวางเครือข่ายประสานความร่วมมือในต่างประเทศ และสร้างเป็น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน ตามแนวคิดของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในการประชุมตำรวจอาเซียน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี กล่าวปิดท้าย.
ทีมข่าวอาชญากรรม
ไทยรัฐออนไลน์
21 กรกฎาคม 2556, 05:00 น.
ที่มา :
http://www.thairath.co.th/column/region/trialweek/358331