• Welcome to เว็บบอร์ด ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5.
 

แฮ็กข้อมูลเอทีเอ็ม (Update!รวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไต้หวัน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเชื่อมเบอร์ราชการไ

เริ่มโดย chusit, 12 พฤศจิกายน 2013 13:37

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

chusit

แฮ็กข้อมูลเอทีเอ็ม


ข่าวแก๊งมิจฉาชีพทางการเงินก่อคดีมีให้เห็นเป็นระยะ จับกุมปราบปรามเท่าไหร่ก็ไม่หมดสิ้นเสียที

ล่า สุดมีเจ้าทุกข์เกือบ 70 ราย แจ้งความที่สน.ลุมพินีว่า เงินในบัญชีธนาคารหาย ภายหลังไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มบริเวณตึกออลซีซั่นส์เพลส ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท มีบัตรของธนาคารต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ 5 ธนาคาร

จากการตรวจสอบของธนาคารพบว่ามีการไปกดเงินที่ปลายทางประเทศยูเครน

มาทำความรู้จักภัยจากเครื่องคัดลอกข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์กัน

บัตร อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพพยายามขโมยเงินผู้อื่นด้วยอุปกรณ์ ดังนี้

1.เครื่อง คัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็ก (Skimmer) มิจฉาชีพจะติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็ก (Skimmer) ไว้ที่ช่องเสียบบัตร เพื่อคัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กบนบัตร รวมทั้งนำแป้นกดตัวเลขปลอมครอบแป้นกดตัวเลขของตู้เอทีเอ็ม และใช้กล้องขนาดจิ๋วแอบติดตั้งไว้เพื่อดูรหัสผ่านแล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปทำ บัตรปลอม เพื่อถอนเงิน โอนเงิน หรือซื้อสินค้าและบริการในนามของเรา

2.อุปกรณ์ คัดลอกข้อมูล (Scanner) แบบพกพา มิจฉาชีพจะทำการขโมยหรือแอบนำบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตของเรา ไปรูดกับอุปกรณ์คัดลอกข้อมูลชนิดพกพา เพื่อคัดลอกข้อมูลที่อยู่ในแถบแม่เหล็กบนบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต และนำข้อมูลที่ได้ไปผลิตบัตรปลอมสำหรับใช้ซื้อสินค้าและบริการในนามของเรา

ข้อควรรู้ในการระมัดระวังและป้องกันเมื่อใช้บัตรและตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย

1.เก็บรักษาบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม ไว้ในที่ปลอดภัย

2.ก่อนใช้บริการจากตู้เอทีเอ็ม ควรสังเกตช่องสอดบัตร แป้นกดตัวเลขว่ามีการดัดแปลงหรือไม่ หากสงสัยควรเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มใหม่ทันที

3.ขณะกดรหัสผ่านยืนชิดตัวเครื่องและใช้มือบังแป้น ระวังไม่ให้ผู้อื่นสังเกตเห็น

4.หากบัตรติดอยู่ในเครื่องหรือสูญหาย รีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัตรทันที

5.ควร เก็บบัตรและธนบัตรเข้ากระเป๋าให้เรียบร้อยก่อนออกจากเครื่อง ไม่ควรนำบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มของเราให้บุคคลอื่น เพื่อป้องกันการถูกนำไปรูดกับเครื่องคัดลอกข้อมูล

6.ไม่จดรหัสผ่านของบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มไว้ในที่เดียวกัน

7.ไม่ควรกำหนดรหัสผ่านเป็นตัวเลขที่เดาได้ง่าย เช่น วันเดือนปีเกิด หรือใช้รหัสเดียวกันสำหรับบัตรทุกใบ

8.ใน การชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตร ควรอยู่ในบริเวณที่สังเกตการทำรายการได้ และเมื่อรับบัตรคืนต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นบัตรของเรา

9.ตรวจ สอบความถูกต้องของรายการในสลิปบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตทุกครั้ง และควรเก็บสำเนาสลิปไว้ เพื่อตรวจสอบกับใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในภายหลัง แต่หากต้องการทิ้งสลิป ควรฉีกให้เป็นชิ้นย่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ทางทุจริต


ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 08:44 น.

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5ESXlNRFkzT1E9PQ==&subcatid=


chusit

แห่แจ้งถูกดูดเงินเอทีเอ็ม-สูญนับล้าน ติดเครื่องขโมยข้อมูล ซุกในช่องเสียบบัตร!

แห่แจ้งความเพิ่มเป็นกว่า 50 รายแล้วเหยื่อถูกดูดเงินผ่านเอทีเอ็ม ค่าเสียหาย 1.1 ล้านบาท แฉทั้งหมดถูกดูดเงินหลังใช้บัตรกดเงินจากตู้ในอาคารออลซีซั่นส์ ถ.วิทยุ และใกล้เคียง พบปลายทางกดไปจากประเทศยูเครน คนร้ายใช้วิธีติดตั้งตัว "สกิม เมอร์" หรือเครื่องบันทึกแถบแม่เหล็กบัตรเอทีเอ็ม ก่อนส่งข้อมูลไปให้คนร้ายก๊อบปี้บัตรออกมากดเงินออกจากบัญชี ตร.ลุยสอบ รปภ.และดูกล้องวงจรปิดหาเบาะแสคนร้ายที่มาติดตัว "สกิมเมอร์" แบงก์กสิกรฯ เผยพบบัตรถูกก๊อบปี้ 117 ใบ ชดเชยเงินให้ลูกค้าแล้ว 2.7 แสนบาท ขณะที่ไทยพาณิชย์ชี้ตรวจสอบตู้เอทีเอ็มของธนาคารเพื่อป้องกันเหตุ ยันตอนนี้แก้ปัญหาได้แล้ว สมาคมธนาคารไทยแนะวิธีป้องกันถูกดูดข้อมูล

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ประชาชนเจ้าของบัญชีธนาคารหลายแห่งเดินทางเข้าแจ้งความกับร.ต.อ.มีศัก โนราช ร้อยเวร สน.ลุมพินี ว่านำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่างๆ ภายในอาคารออลซีซั่นส์ เพลส ถ.วิทยุ ปรากฏว่าจากนั้นมีเงินถูกกดออก จากบัญชีอีกหลายครั้ง โดยที่เจ้าของบัตรไม่ทราบเรื่อง

นางสุพิชญา รัตนชัย อายุ 32 ปี หนึ่งใน ผู้เสียหายทำงานในอาคารเกิดเหตุ ให้การว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ยินเพื่อนๆ คุยกันเรื่องที่เงินในบัญชีหายไปหลังจากกดเงินที่ตู้กดเงินสดในบริเวณอาคารอ อลซีซั่นส์ เพลส จึงนำบัตรธนาคารกรุงเทพที่เคยกดไปตรวจสอบพบว่าถูกกดเงินออกไป 2 ครั้งจำนวนประมาณ 15,000 บาท

นางประภานิช ไกรมาศ อีกหนึ่งผู้เสียหาย ให้การว่า เคยมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มในอาคารนี้ เมื่อทราบข่าวจึงรีบไปตรวจสอบพบว่ามีเงินถูกกดออกไป 4 ครั้งจำนวนประมาณ 50,000 บาท จึงรีบมาแจ้งความ

ด้านพ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก.สน. ลุมพินี กล่าวว่า ตลอดทั้งวันมีประชาชน มาแจ้งความเงินหายจากบัญชี ส่วนเมื่อวาน (6 พ.ย.) มาแจ้ง 22 ราย ล่าสุดมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความรวมแล้ว 50 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,100,000 บาท ล่าสุดเชิญธนาคารต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายเดินทางมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล เบื้องต้นพบว่าตู้เอทีเอ็มหลายแห่งถูกคนร้ายติดตั้งตัวสกิมเมอร์ หรือเครื่องบันทึกแถบแม่เหล็กบัตรเอทีเอ็ม เพื่อนำไปทำบัตรใหม่และสามารถกดเงินในบัญชีออกมาได้

"สันนิษฐานว่าคนร้ายน่าจะเป็นแก๊งชาวรัสเซีย โดยเมื่อผู้เสียหายสอดบัตรเอทีเอ็มเข้าไปทางตัวสกิมเมอร์ก็จะเก็บข้อมูลบัตร และส่งข้อมูลของบัตรไปยังผู้ต้องหา เบื้องต้นพบข้อมูลว่าแหล่งกดเงินอยู่ที่ประเทศยูเครน และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้น่าจะมีคนรู้เห็นกับการติดตั้งตัว สกิมเมอร์ เพราะการติดตั้งตัวสกิมเมอร์นั้นใช้เวลานานพอสมควร อีกทั้งตู้เอทีเอ็มในอาคารออลซีซั่นส์ไม่ได้อยู่ที่ลับตา มี รปภ.เดินตรวจเป็นระยะๆ จากนี้จะเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาสอบสวน และจะตรวจสอบกล้องวงจรปิดย้อนหลังว่ามีใครต้องสงสัยเข้ามาที่ตู้เอทีเอ็ม ดังกล่าวหรือไม่" ผกก.สน.ลุมพินีกล่าว

เจ้าหน้าที่พัฒนา ธุรกิจธนาคารกรุงศรี อยุธยากล่าวว่า ประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า เพื่อหาข้อเท็จจริง ส่วนกรณีที่ลูกค้าที่ประสบปัญหาสามารถนำเอกสารใบบันทึกแจ้งความแล้วนำมาที่ ธนาคารที่เป็นลูกค้าอยู่เพื่อตรวจสอบข้อมูล หากพบว่าลูกค้ารายใดโดนสกิมเมอร์ หรือแถบแม่เหล็กที่ใช้แฮ็กเงินจริงทางธนาคารที่ผู้เสียหายเป็นลูกค้าอยู่จะ เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

พ.ต.อ.สถิต พรมอุทัย ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า บก.ปอศ.จะประสานกับทางธนาคารผู้เสียหาย เพื่อสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งคนร้ายที่ก่อเหตุจะคัดลอกข้อมูลในประเทศ ไทยและไปกดเงินที่ต่างประเทศ กับอีกส่วนคัดลอกข้อมูลต่างประเทศและมากดเงินที่ประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ข่าวดังกล่าวแพร่กระจายออกไป ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในอาคารออลซีซั่นส์พากันเข้าไปที่ธนาคารที่ตนเอง เปิดบัญชีไว้เพื่อตรวจสอบยอดเงินในบัญชี สร้างความโกลาหลเป็นอย่างมาก

รายงาน ข่าวจากธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ข่าวที่ลูกค้าธนาคารถูกถอนเงินจากบัญชีนั้น เป็นกรณีของเครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม (ATM Skimming) คือการที่คนร้ายเอาอุปกรณ์มาติดที่ตู้บริเวณที่เสียบบัตร เพื่อคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็กเพื่อไปทำบัตรปลอม และนำไปถอนเงินในต่างประเทศ เบื้องต้นพบมีบัตรของธนาคารต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ 5 ธนาคาร ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยเป็นจำนวนบัตรเดบิตที่ถูกทุจริต 117 ใบ ในจำนวนนี้ 38 รายได้รับ ความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 270,000 บาท

"ธนาคาร กสิกรไทยในฐานะธนาคารผู้ออกบัตร ยืนยันจะเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าทั้งหมดเป็นเงินรวม 270,000 บาท พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการนำภาพคนร้ายที่บันทึกได้จากตู้ เอทีเอ็มให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามต่อไป"

วันเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทยออกหนังสือชี้แจงว่า ตามที่ได้มีการส่งข้อความทางช่องทางต่างๆ ให้งดการใช้บริการทางเครื่อง ATM ของธนาคารกสิกรไทยในช่วงนี้นั้น ธนาคารขอยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้บริการเครื่อง ATM ได้ตามปกติอย่างปลอดภัย สำหรับกรณีอันเกี่ยวเนื่องจากการคัดลอกข้อมูลบัตรเอทีเอ็มในครั้งนี้ มีบัตรเดบิต เอทีเอ็ม ของธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งบัตรของธนาคารอื่นได้รับผลกระทบ ซึ่งการถูกคัดลอกข้อมูลดังกล่าวเกิดจากเครื่อง ATM 2-3 เครื่องของหลายธนาคารในบริเวณถนนวิทยุ ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่เกิดความเสียหายทางการเงินในลักษณะดังกล่าว ธนาคารเจ้าของบัตรจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ทั้งหมด หากพบปัญหาใดๆ สามารถติดต่อได้ที่ K-Contact Center 0-2888-8888

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ขอเรียนยืนยันว่าลูกค้ายังสามารถใช้บริการที่เครื่องเอที เอ็มของธนาคารได้ตามปกติอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการคัดลอกข้อมูลและรหัสบัตร หรือ Skimming ของกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อโจรกรรมเงินในบัญชีลูกค้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

ธนาคาร ขอเรียนว่า ธนาคารมิได้นิ่งนอนใจ และจัดให้มีกระบวนการตรวจเช็กเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มีการอายัดบัตรที่ต้องสงสัย และติดต่อแจ้งลูกค้าที่ถูกอายัดบัตรให้ทราบทุกราย ตลอดจนออกบัตรใหม่โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ในกรณีที่ลูกค้าได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือและ รับผิดชอบ โดยคืนเงินให้แก่ลูกค้าทุกราย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาใดๆ สามารถติดต่อได้ที่ SCB Call Center 0-2777-7777

นอกจากนี้สมาคมธนาคารไทยแจ้งเตือนให้ประชาชนที่ มีบัตรเอทีเอ็มให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ เพื่อป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กและรหัสประจำบัตร โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะใช้วิธีการนำอุปกรณ์มาครอบช่องเสียบบัตร และใช้วิธีซ่อนกล้องถ่ายภาพขนาดเล็กไว้บริเวณใกล้ ตู้เอทีเอ็มหรือยืนด้านหลังผู้ที่กำลังทำรายการ ดังนั้น ธนาคารขอแนะนำให้ลูกค้าใช้มือบังแป้นคีย์บอร์ดขณะกดรหัส หรือให้ลูกค้าสมัครบริการแจ้งความเคลื่อนไหวทางบัญชีผ่านการส่งข้อความแจ้ง ผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มีให้บริการ อยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าสามารถทราบความเปลี่ยน แปลงทางบัญชีได้อย่างรวดเร็ว


ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 09:15 น. 

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE16ZzNOamswTnc9PQ==&sectionid=
   

chusit

ล่าโจรสกิมเมอร์

แอบดูดข้อมูลเอทีเอ็ม‘78ราย’รูดเงิน

เหยื่อแก๊งแฮกเกอร์ข้ามชาติโล่ง 5 ธนาคาร ประกาศรับผิดชอบยอม จ่ายเงินคืนเหยื่อทั้งหมด ซึ่งขณะนี้เดินทางเข้าแจ้งความแล้ว 78 คน ส่วนการสืบสวนตำรวจได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากเงินถูกโอนไปประเทศยูเครนแล้วยังถูกโอน ไปประเทศรัสเซียด้วย ต้องรอภาพจากกล้องวงจรปิดตู้เอทีเอ็มเกิดเหตุมาประกอบ เพื่อดูรูปพรรณคนร้ายว่าเป็นแก๊งข้ามชาติจากประเทศอะไรกันแน่ ขณะที่ ผู้บริหารอาคารออล ซีซั่นส์ เพลส ออกมาแจง ตู้เอทีเอ็ม เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในอาคาร

กรณีแก๊งคนร้ายนำเครื่องสกิมเมอร์ไปติดไว้ที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ขนาบข้างด้านอาคาร อพอลโลและอาคารออลซีซั่นส์ เพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. เพื่อดูดข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มของเหยื่อที่มากดเงินสด หลังจากนั้นคนร้ายจะเอาข้อมูลไปถ่ายลงในบัตรเอทีเอ็มปลอมแล้วนำไปเบิกเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย เบื้องต้นมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวนที่ สน.ลุมพินีแล้ว 50 คน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่อาคารออลซีซั่นส์ เพลส รวมค่าเสียหายทั้งหมดกว่า 1.1 ล้านบาท จากการตรวจสอบของธนาคารหลายแห่ง  อาทิ ที่ผู้เสียหายถือบัตรเอทีเอ็มอยู่พบว่า คนร้ายน่าจะเป็นชาวยูเครน เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลเบิกเงิน แก๊งคนร้ายถอนเงินในบัญชีของเหยื่อจากตู้เอทีเอ็มที่ประเทศยูเครน

ความคืบหน้าจาก สน.ลุมพินี เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 พ.ย. พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เดินทางมาที่โรงพักเรียกประชุมชุดสืบสวนสอบสวน เพื่อติดตามความคืบหน้าการคลี่คลายคดี ประกอบด้วย พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์  ผกก.สน.ลุมพินี พ.ต.ท.เดชา พรมสุวรรณ์ พงส.ผนพ.สน.ลุมพินี เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย พร้อมเหยื่อผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเข้าให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่ สน.ลุมพินี แล้ว จำนวน 78 ราย เกิดความเสียหายเป็นเงิน 1,340,000 บาท จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายทุกรายเคยมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริเวณข้างร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างตึกอพอลโล และตึกออลซีซั่นส์ เพลส ถนนวิทยุ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ตู้ดังกล่าวมีการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ ซึ่งเป็นเครื่องคัดลอกข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย โดยคนร้ายนำข้อมูลโอนเงินไปต่างประเทศ ปลายทางที่ประเทศยูเครนและรัสเซีย ตนได้ประสานให้เจ้าหน้าฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินีขอภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่บริเวณตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพไปตรวจสอบลักษณะของคนร้ายซึ่งคาดว่าจะเป็นชาวต่างชาติ

พล.ต.อ.เอกกล่าวต่อไปว่า ส่วนแนวทางการสืบสวน นอกเหนือจากพนักงานสอบสวน  สน.ลุมพินีที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและรับแจ้งความแล้ว ได้ประสานความร่วมมือกับ บก.ปอศ.เข้าร่วมสอบสวน พร้อมทั้งประสาน ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เพื่อร่วมตรวจสอบและวางแผนหาข้อมูลเพื่อคลี่คลายคดี รวมทั้งจัดการป้องกันการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะดังกล่าว อยาก ฝากประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณีที่เกิดขึ้น สามารถเดินทางเข้าแจ้งความที่ สน.ลุมพินี ได้ตลอดเวลา โดยเจ้าหน้าที่จะช่วยประสานไปยังธนาคารเจ้าของบัตร หรือผู้เสียหายสามารถนำบันทึกแจ้งความพร้อมสำเนาบัตรประชาชนไปยื่นกับทางธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อรับการเยียวยาได้ทันที ธนาคารยืนยันว่าจะดำเนินการให้ภายใน 15 วัน

ต่อมานายสุพจน์  อิ่นคำ  ผอ.ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทออล  ซีซั่นส์  พร็อพเพอร์ตี้  แมเนจเม้นท์  จำกัด เดินทางมาที่โรงพัก  กล่าวว่า  ขอยืนยันหลังจากที่ตกเป็นข่าวเรื่องการถอนเงินเกิดขึ้นภายในตึกออลซีซั่นส์ เพลส  ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเจ้าหน้าที่ของอาคารได้ประสานงานกับธนาคารทั้ง  7  ธนาคาร  ประกอบไปด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  และธนาคารยูโอบี ที่อยู่ภายในตึก  เพื่อขอตรวจสอบความปลอดภัยตู้เอทีเอ็มภายในตึกแล้ว ได้รับการตอบรับจากทางธนาคารว่า ไม่มีความผิดปกติกับตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในอาคารแน่นอน เชื่อว่ามีคนให้ข่าวว่าบริเวณเกิดเหตุอยู่ภายในตึกออล ซีซั่นส์ เพลส แต่ความจริงแล้วเป็นตู้เอทีเอ็มที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น  ตนขอยืนยันในระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยของตึกออล ซีซั่นส์ เพลส ว่า ไม่มีแก็งมิจฉาชีพเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน

ไทยรัฐออนไลน์
9 พฤศจิกายน 2556, 09:00 น.
ที่มา :  http://www.thairath.co.th/content/newspaper/381651

chusit

โจรสกิมเมอร์ดูดเงินตามตู้เอทีเอ็มเหยื่ออื้อกว่า 40 ราย

แก๊งต่างชาติอาละวาดติดตัวสกิมเมอร์ในตู้เอทีเอ็ม ดูดเงิน กว่า 6 แสนบาท เดือดร้อน 40 ราย แม่บ้านแทบทรุดเก็บเงินหวังบวชลูกชายโดนดูดหาย แห่เช็กยอดเงินชุลมุน


เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นางประภานิช ไกรมาศ อายุ 55 ปี ชาว ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เดินทางเข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.มีศักดิ์ โมราช ร้อยเวร สน.ลุมพินี ว่าเงินส่วนตัวในบัญชีธนาคารนั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอยจำนวนหลายหมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายอีกร่วม 20 ราย เข้าแจ้งความด้วย

นางประภานิช กล่าว่า ตนมีอาชีพเป็นแม่บ้านอยู่ในอาคารออลซีซั่น เพลส แขวงปทุมวัน เขตลุมพินี มีเงินฝากในธนาคารกรุงเทพ กว่า 1 แสนบาท โดยเก็บหอมรอมริบมานานกว่า 10 ปี เพื่อจะนำเงินดังกล่าวไปจัดงานบวชให้กับลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ก่อนเกิดเหตุนั้นได้ยินเพื่อนที่ทำงานด้วยพูดคุยกันว่า จู่ๆ เงินในบัญชีธนาคารหายไปอย่างไร้ร่องรอย ด้วยความกลัวจึงลองไปกดดู แต่เพียงแค่สอดบัตรไปเท่านั้นและยังไม่ได้กดรหัสบัตรด้วย ทางตู้เอทีเอ็มก็ดูดบัตรเอทีเอ็มเข้าไปเลย ด้วยความตกใจจึงรีบไปแจ้งที่ธนาคารกรุงเทพฯ ที่อยู่ในตึกออลซีซั่น จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ธนาคารเอาข้อมูลกลับคืนมาให้ ซึ่งหลังตรวจสอบพบว่าเงินได้หายไปจากบัญชีแล้วร่วม 5 หมื่นบาท จึงเหลืออยู่ในบัญชีเพียงแค่ 7 หมื่นบาท โดยจากตรวจการเบิกเงินก็พบอีกว่า มีการกดเงินทั้งหมด 5 ครั้งๆละกว่า 9 พันบาท จึงเข้าแจ้งความดังกล่าว

ขณะที่ น.ส.ผกามาศ วิธีธรรม อายุ 51 ปี หนึ่งในผู้เสียหายเช่นกัน ได้กล่าวว่า ทำงานอยู่ที่อาคารเดียวกับนางประภานิช โดยตนถูกคนร้ายก่อเหตุดูดเงินไปเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมาเอะใจตั้งแต่เจ้าหน้าที่แบงก์ไทยพาณิชย์โทรฯมาหาตนแล้วสอบถามว่า ตนอยู่ที่ไหน ซึ่งก็แปลกใจแต่ก็ตอบไปว่าอยู่ประเทศไทย จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งขออนุญาตอายัดบัญชีเนื่องจากช่วงคืนที่ผ่านมามีการทำธุรกรรมการเงินอย่างผิดปกติ โดยกดเงินในบัญชีออกติดต่อกันถึง 3 ครั้ง ที่เมืองเคียฟ ประเทศยูเครน รวมทั้งสิ้น 30,000 บาท จึงรู้ว่าถูกพวกคนร้ายดูดเงินไปแล้ว

พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี กล่าวว่า เบื้องต้นจะเรียกพนักงานธนาคารที่ดูแลเกี่ยวกับระบบบัตรเครดิตของธนาคารต่างๆตามที่ผู้เสียหายระบุมาสอบถามรายละเอียดต่อหน้าผู้เสียหาย เพื่อหาทางป้องกันและช่วยเหลือผู้เสียหายเชื่อว่าคนร้ายไม่น่าจะใช้กล้องเข็มไปติดตั้งบริเวณตามตู้บริการเงินด่วน เพราะอาคารที่ผู้เสียหายไปใช้บริการเงินด่วนนั้น มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำ สันนิษฐานว่าคนร้ายน่าจะเป็นแก๊งชาวรัสเซียที่ลักลอบติดแทบสกิมเมอร์ ตามตู้เอทีเอ็มต่างๆ โดยเมื่อผู้เสียหายสอดบัตรเอทีเอ็มเข้าไปทางตัวสกิมเมอร์ก็จะเก็บข้อมูลบัตรและส่งข้อมูลของบัตรไปยังคนร้าย อาจเป็นไปได้ว่ามีคนรู้เห็นกับการติดตัวสกิมเมอร์ เพราะการติดตั้งนั้นใช้เวลานานพอสมควร

ด้าน พ.ต.อ.สถิต พรมอุทัย ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) กล่าวว่า ทางผู้เสียหายเดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ซึ่งในส่วน บก.ปอศ.จะประสานกับทางธนาคารผู้เสียหาย เพื่อทำการสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุ เชื่อว่าคนร้ายน่าจะใช้เครื่องสกิมเมอร์คัดลอกข้อมูลของผู้เสียหายที่ทำธุรกรรมการเงินไป ซึ่งคนร้ายที่ก่อเหตุจะคัดลอกข้อมูลในประเทศไทยและไปกดเงินที่ต่างประเทศ กับคัดลอกข้อมูลต่างประเทศและมากดเงินที่ประเทศไทย สำหรับคนร้ายที่ก่อเหตุน่าจะเป็นพวกตุรกีกลุ่มรัสเซียเก่า ที่แยกตัวออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า ได้มีประชาชนเข้ามาแจ้งความในลักษณะเดียวกันจำนี้แล้ว 22 ราย ส่วนใหญ่ผู้ที่เดือดร้อนจะพักอยู่ย่านสาทร เพลินจิต สุขุมวิท สำหรับวันนี้มีผู้เสียหายเดินทางเข้ามาแจ้งความเพิ่มเติมอีก จำนวน 18 ราย รวม 2 วัน เป็นจำนวน 40 ราย รวมค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินจำนวนกว่า 600,000 บาทซึ่งหลังจากที่ข่าวดังกล่าวแพร่กระจายออกไปทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในอาคารต่างพากันเดินทางเข้าไปที่ธนาคารที่ตนเองเปิดบัญชีไว้เพื่อตรวจสอบยอดเงินในบัญชีว่าหายไปมากน้อยเท่าใดซึ่งสร้างความโกลาหลเป็นอย่างมากในธนาคาร ขณะบรรยากาศที่ สน.ลุมพินี มีผู้เสียหายเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรหน้า สน.ลุมพินี ก็มีผู้ตกเป็นเหยื่อของถูกด้วยเช่นกัน

ด้านนายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ตัวนี้ไม่น่าใช่ตู้เอทีเอ็มโดนแฮกน่าจะเป็นผู้ใช้ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นโดนพวก สกิมเมอร์ มากกว่า และไม่ค่อยได้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของตัวเอง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการแอบติดอุปกรณ์พวกนี้ไว้แถวนั้นเพื่อทำการปลอมบัตร แล้วหลังจากได้ข้อมูลบัตรพอสมควร จะทำการแปลงบัตรและไปกดเงินยังต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบยากพอมีคนนึงมากดเงิน คาดว่าเป็นต้นเดือนจึงมากดเงินหลังจากเงินเดือนออก จึงทราบว่าเงินได้หายไปจากบัญชีแล้ว จึงตามเพื่อนๆ ที่อยู่บนบริเวณนั้นมาลองกดดู ส่วนใครที่อยู่บริเวณนั้นก็ควรจะตรวจสอบบัญชีเงินฝาก แล้วควรแจ้งธนาคารหากมีปัญหา และรีบเปลี่ยนรหัสผ่านก่อน ซึ่งแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ให้ลองตรวจสอบกับธนาคารเพื่อเปลี่ยนบัตร หากใช้บริการตู้ เอทีเอ็มบริเวณนั้น

เดลินิวส์
วันพฤหัสบดี 7 พฤศจิกายน 2556

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=193221

chusit

แห่แจ้งตร.ถูกแฮ็กบัตร กดเอทีเอ็มซีพีทาวเวอร์

แห่ขึ้นโรงพักพญาไท แจ้งความบัตรเอทีเอ็มถูกแฮ็กแล้วลอบถอนเงินค่าเสียหายนับล้าน หลังไปกดจากตู้ในอาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ตู้เดียวกัน ผู้เสียหายเบื้องต้นมี 8 คนแล้ว เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายทวี รัตนานุกูลพงษ์ อายุ 41 ปี พนักงานบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งภายในอาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ย่านพญาไท เข้าพบ ร.ต.ท.กฤษณะ มั่นศักดิ์ พนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อแจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานภายหลังเงินในบัญชีธนาคารหายไปจำนวนมาก

นายทวีกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ซัพพอร์ตของบริษัทโฆษณา ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.นำบัตรเอทีเอ็มธนาคารทหารไทยไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย ภายในอาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ตึกที่ทำงานอยู่ จากนั้นกลับมาทำงานตามปกติ กระทั่งเช้าวันนี้ 12 พ.ย.มีเพื่อนพนักงานหลายคนบอกว่าเงินในบัญชีหายไปจำนวนมากโดยที่ยังไม่ได้ เบิกไปใช้

นายทวีกล่าวต่อว่า ตนรีบไปตรวจสอบยอดเงินบัญชีกับทางธนาคารพบว่าเงินหายไป เมื่อสอบถามว่าเงินถูกถอนออกไปวันไหน พนักงานธนาคารตอบว่า ถูกถอนออกไปวันที่ 11 พ.ย.จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ถูกถอนไปครั้งละ 20,000 บาท ส่วนครั้งสุดท้ายถูกถอนไปจนหมดบัญชี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45,800 บาท เหลือเงินอยู่แค่ 63 บาทเท่านั้น

"ผมถามต่อว่าเงินถูกถอนออกจากที่ไหน พนักงานก็ตอบมาแต่ผมจำไม่ได้ แต่ไม่ได้ถูกถอนออกนอกประเทศแน่นอน จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเพื่อนในบริษัทก็โดนไปหลายคนและทยอยมาแจ้งความก่อนหน้านี้แล้ว" นายทวีกล่าว

ด้านนายอนุพล ภูวพูนผล อายุ 53 ปี ผอ.ฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท ฟาร์อีสดีดีบี จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า วันนี้พนักงานในบริษัทหลายคนเล่าให้ฟังว่า กดเงินที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารทหารไทย สาขาพญาไท ตั้งอยู่ที่อาคารซีพีทาวเวอร์ 3 พบว่าเงินในบัญชีสูญหายไป ตนก็ไปกดเงินที่ตู้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ครั้งแรกไม่เอะใจ ไม่คิดว่าบัญชีจะโดนแฮ็กข้อมูลเหมือนกับคนอื่นๆ เพราะใช้บริการตู้เอทีเอ็มดังกล่าวเมื่อกว่า 10 วันมาแล้ว

นายอนุ พลกล่าวอีกว่า กระทั่งนำสมุดบัญชีไปตรวจสอบกับธนาคารพบว่ามีการถอนเงินออกจากบัญชีเมื่อวัน ที่ 11 พ.ย. จำนวน 20 ครั้ง ครั้งละ 20,000 บาท และในวันนี้มีการถอนเงินไปอีกจำนวน 20 ครั้ง ครั้งละ 20,000 บาท รวมเงินที่ถูกถอนไป 800,000 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมธนาคารจำนวนหนึ่ง หลังรู้ว่าบัญชีถูกแฮ็ก ตนขออายัดบัญชี ทางธนาคารแจ้งว่าจะชดเชยเงินที่ถูกถอนไปให้ทั้งหมด ทั้งนี้ผู้เสียหายที่มาแจ้งความส่วนใหญ่วันนี้เป็นพนักงานบริษัทของตน เพราะ ทางบริษัทจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารทหารไทย

นายอนุพล กล่าวต่อว่า อยากฝากเตือนไปยังผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มไม่ว่าจะเป็นสาขาเดียวกับตนหรือ สาขาอื่นๆ รวมทั้งธนาคารอื่นๆ ด้วย ให้ตรวจสอบบัญชีของท่านว่าบัญชีถูกแฮ็กข้อมูลด้วยหรือไม่ หากพบว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดปกติ หรือพบว่ามีการแฮ็กข้อมูลให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อตรวจสอบ พร้อมทั้งอายัดบัญชีเอาไว้ก่อน แล้วมาแจ้งความเป็นหลักฐานไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นมีผู้เสียหาย เดินทางเข้าแจ้งความแล้ว 8 ราย หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะประสานธนาคารทหารไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าตู้เอทีเอ็มดังกล่าวถูกคนร้ายใช้ เครื่องคัดลอกติดตั้งไว้หรือไม่ พร้อมทั้งตรวจสอบเส้นทางการเงินว่าไปอยู่ที่ไหน และสอบปากคำพยานอื่นๆ ว่ามีบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับตู้เอทีเอ็มหรือไม่ ก่อนดำเนินการต่อไป

ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 09:33 น.

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5ETXhNREExTWc9PQ==&sectionid= 

chusit

แก๊งดูดเงิน'เอทีเอ็ม'อาละวาด ตร.แนะกลยุทธ์ป้องกัน


นับเป็นภัยใกล้ตัวคนใช้บัตรเอทีเอ็มจริงๆ เมื่ิอล่าสุด มีแก๊งดูดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ออกอาละวาด ติดเครื่องดูดข้อมูล หรือที่เรียกกันว่าเครื่อง "สกิมเมอร์" ดึงข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มเหยื่อเอาไปก๊อบปี้ถอนเงินในต่างประเทศ สร้างความเสียหายให้กับธนาคารและเจ้าของเงินยิ่งนัก...

เป็นคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

พฤติการณ์คนร้าย ถูกตีแผ่ช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้เสียหายกว่า 70 ราย ทยอยขึ้นโรงพักแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจสน.ลุมพินี ละล่ำละลัก เล่าว่า โดนดูดข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มไปจนหมดบัญชี บางรายเงินหายไป 3 หมื่น ถึง 7 หมื่นบาท บางรายโดนดูดจนหมดบัญชี ยอดความเสียหายนับล้านบาท เหยื่อถึงกับอึ้ง เมื่อจู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรติดต่อมาขออายัดบัตร เพราะพบการถอนเงินจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เจ้าของบัตรไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่ระบุว่า โดนดูดเงินหลังกดเงินจากตู้ ATM ที่ตึกออลซีซั่น และอาคารโรเล็กซ์ ย่านถนนวิทยุ ขอให้ตำรวจจับคนร้ายมาดำเนินคดีด้วย

พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี จึงเร่งสอบปากคำผู้เสียหายทันที

ผกามาศ วิธีธรรม วัย 51 ปี ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 133/21 ซอยมิตตคาม แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม. หนึ่งในเหยื่อแก๊งดูดเอทีเอ็ม ให้ข้อมูลว่า ทำงานอยู่ที่อาคารออลซีซั่น เพลส ก่อนเกิดเหตุ วันที่ 5 พ.ย. มีเจ้าหน้าที่จากธนาคารไทยพาณิชย์ โทรศัพท์มาขออายัดบัญชี โดยแจ้งว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาพบการทำธุรกรรมการเงินผิดปกติ มีการกดเงินในบัญชีออกติดต่อกัน 3 ครั้ง ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 100 บาท โดยพบว่าเงินในบัญชีตนจาก 2 ธนาคาร ถูกกดออกไปรวมทั้งสิ้น 3 หมื่น ทั้งๆ ที่ตนอยู่เมืองไทย และไม่ได้ทำธุรกรรมการเงินกับต่างประเทศแต่อย่างใด จึงเข้าแจ้งความเพื่อให้ข้อมูลไว้

ขณะที่ นางประภานิช ไกรมาศ อายุ 55 ปี ทำงานเป็นแม่บ้านในอาคารออลซีซั่น เพลส ก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน โดยเธอโดนแก๊งคนร้ายดูดเงินจากบัตร หายไปร่วม 5 หมื่นบาท ตำรวจเช็กดู พบว่ามีการเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็ม 5 ครั้ง ครั้งละ 9 พันกว่าบาท เหลืออยู่ในบัญชีเพียง 7 หมื่นบาทเท่านั้น และที่สำคัญ เป็นเงินที่เธอเก็บหอมรอมริบมานานกว่า 10 ปี ทั้งบัญชีมีประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งเธอกำลังเตรียมนำเงินไปจัดงานบวชลูกชาย แต่ก็ต้องมาพลาดท่าเสียทีแก๊งไฮเทคจนได้

"ตอนนั้นได้ยินเพื่อนที่ทำงานคุยกันว่า เงินในบัญชีธนาคารหายไปโดยไม่รู้สาเหตุ ด้วยความกลัวจึงไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มภายในตึกออลซีซั่น แต่เพียงแค่สอดบัตร และยังไม่ได้กดรหัสบัตร บัตรเอทีเอ็มของตนถูกดูดหายเข้าไปในเครื่อง เมื่อไปสอบถามที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาที่อยู่ในตึกและให้ตรวจสอบข้อมูล พบว่าเงินในบัญชีตนที่เก็บหอมรอมริบมาหายไปเกือบ 5 หมื่นบาท ไม่น่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลย เพราะตัวเองก็มีฐานะไม่ค่อยดี อุตส่าห์จะเก็บเงินก้อนไปบวชลูกชาย แต่ก็ต้องมาโดนแบบนี้" นางประภานิช กล่าวเสียงสั่น

คดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีผู้เสียหายหลายราย และคาดว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ยังไม่ได้แจ้งความ ผู้กำกับฯ ไชยา จึงร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี เบื้องต้นได้เบาะแสว่า คนร้ายไปกดเงินที่ประเทศยูเครน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นแก๊งชาวรัสเซีย ที่ลักลอบติดเครื่องดูดข้อมูล หรือเครื่องสกิมเมอร์ตามตู้เอทีเอ็ม ก่อนเดินทางกลับประเทศ เมื่อผู้เสียหายสอดบัตรเอทีเอ็มเข้าไป สกิม–เมอร์จะเก็บข้อมูลในบัตร และส่งข้อมูลไปยังกลุ่มผู้ต้องหา และเชื่อว่าน่าจะทำเป็นขบวนการ เพราะการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยตำรวจจะได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดย่านนั้น และเรียกพยานแวดล้อมมาสอบปากคำ

ส่วนค่าเสียหาย ทางธนาคารยืนยันรับผิดชอบทั้งหมด

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ออกมาแนะวิธีป้องกันว่า กรณีดังกล่าวเป็น ATM Skimming คือ การที่คนร้ายเอาอุปกรณ์มาติดที่ตู้บริเวณที่เสียบบัตรเพื่อคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็กไปทำบัตรปลอม และนำไปถอนเงินในต่างประเทศ ปกติเป็นแก๊งต่างชาติ โดยครั้งนี้มีบัตรของธนาคารต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ 5 ธนาคาร ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย เป็นบัตรเดบิตที่ถูกทุจริต 117 บัตร ในจำนวนนี้ 38 ราย ได้รับความเสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 270,000 บาท ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะธนาคารผู้ออกบัตร จะเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยให้กับลูกค้า พร้อมนำภาพคนร้ายที่บันทึกได้จากตู้ ATM ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามต่อไป และเพื่อป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กและรหัสประจำบัตร

โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะใช้วิธีนำอุปกรณ์มาครอบช่องเสียบบัตร และซ่อนกล้องถ่ายภาพขนาดเล็กไว้ใกล้ตู้ ATM หรือยืนด้านหลังผู้ที่กำลังทำรายการ ธนาคารขอแนะนำให้ลูกค้าใช้มือบังแป้นคีย์บอร์ดขณะกดรหัส และแนะนำให้ลูกค้าสมัครบริการแจ้งความเคลื่อนไหวทางบัญชีผ่าน SMS ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มีให้บริการอยู่แล้ว จะทำให้ลูกค้าสามารถทราบความเปลี่ยนแปลงทางบัญชีได้อย่างรวดเร็ว

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ซึ่งทุกธนาคารได้มีการติดเครื่องมือป้องกันแล้ว โดยเรื่องนี้เป็นปัญหาของทุกธนาคาร ซึ่ง vendor ก็ต้องมีหน้าที่กลับไปหามาตรการ หรืออุปกรณ์ในการป้องกันใหม่ โดยทุกธนาคารก็มีข้อตกลงร่วมกันในการช่วยกันสอดส่องดูแล และแจ้งความเคลื่อนไหวทางบัญชีผ่าน SMS ดังนั้น หากลูกค้าพบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติให้รีบ...แจ้ง call center ของธนาคารเพื่ออายัดบัตร และแจ้งความทันที” นายปกรณ์ กล่าว

ขณะที่ นายสมชาย พิชิตสุรจิต กรรมการบริหารชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต สมาคมธนาคารไทย แนะนำว่า ปกติธนาคารจะมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังอยู่แล้ว ธนาคารจะบล็อกทันทีหากพบว่ามีการถอนเงินจากต่างประเทศ ตอนนี้พบที่ถนนวิทยุ 3 อาคารออลซีซั่น โรเล็กซ์ และอพอลโล่ และไม่ต้องกังวล ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมเตือนลูกค้าช่วงกดรหัส ATM ควรใช้มือบัง เพราะมิจฉาชีพอาจติดกล้องรูเข็ม เพื่อแอบดูรหัสบัตรก็เป็นได้

ด้าน พ.ต.อ.ไชยา กล่าวเสริมว่า ประชาชนควรสังเกตความผิดปกติบางอย่างตอนกดเอทีเอ็ม เช่น หลังกดเอทีเอ็มตู้จะคืนบัตรให้ หากบัตรไหลออกมาฝืดเอาออกยาก หรือการหยิบบัตรออกจากช่องคืนบัตร มีพื้นที่ให้หยิบบัตรน้อย ต้องใช้เล็บจิก ให้ตั้งข้อสงสัยได้เลยว่า อาจโดนเครื่องสกิมเมอร์ลอบอ่านข้อมูลแล้ว ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที สำหรับการติดตามคนร้ายแก๊งนี้ อยู่ระหว่างการสืบสวน คาดว่าเป็นขบวนการใหญ่ที่ทำกันมาช้านาน

ท้าทายฝีมือตำรวจอีกครั้ง

ไทยรัฐออนไลน์
9 พฤศจิกายน 2556, 08:30 น.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/region/381472

chusit

สกิมเมอร์โผล่ ไปกดเงินหาดใหญ่


ตร.ควานหาวงจรปิด-ล่ายกแก๊ง

ตำรวจแกะรอยพบแก๊งสกิมเมอร์โผล่กดเงินที่ดูดจากบัตรเอทีเอ็มผู้เสียหายในพื้นที่หาดใหญ่ หลังติดเครื่องคัดลอกข้อมูลสุดไฮเทคที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารดังกลางกรุงจนมีเหยื่อ 12 ราย สูญเงินกว่า 6 แสนบาท เร่งประสานศูนย์สืบสวนภาค 9 ขอเทปวงจรปิดขณะคนร้ายกดเงินพร้อมรื้อแฟ้มคดีเก่าหวังใช้เป็นเบาะแสล่าแก๊งคนร้าย เล็งส่งสำนวนให้ ปอท.ใช้เทคโนโลยีทลายเครือข่าย ส่วนธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็มยืนยันมีมาตรการเฝ้าระวังพร้อมยินดีชดใช้ความเสียหาย ผู้เสียหายนำสื่อตรวจตู้เอทีเอ็มเจ้ากรรม

กรณีผู้เสียหายหลายรายแห่เข้าแจ้งความตำรวจหลังเงินในบัญชีธนาคารสูญหายจากบัญชีกว่า 6 แสนบาท เบื้องต้นคาดว่าถูกแก๊งคนร้ายติดเครื่องสกิมเมอร์คัดลอกข้อมูลบัตรเอทีเอ็มที่ตู้เอทีเอ็ม ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี สาขาพญาไท ในอาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ถนนศรีอยุธยา ก่อนธนาคารเจ้าของบัตรยืนยันชดใช้เงินให้ผู้เสียหาย ซ้ำรอยคดีที่เคยเกิดในพื้นที่ สน.ลุมพินี ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 พ.ย. นายอนุพล ภูวพูนผล อายุ 53 ปี ผอ.ฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัทฟาร์อีสดีดีบี จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายเงินหายไปจากบัญชีธนาคารทหารไทย สาขาพญาไท 400,000 บาท ได้พาผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบตู้เอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย สาขาพญาไท ที่อาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ที่คาดว่าเป็นตู้เอทีเอ็มที่ถูกแก๊งคนร้ายโจรกรรมข้อมูลบัตรเอทีเอ็มแต่ไม่พบเครื่องสกิมเมอร์ที่ตู้เอทีเอ็ม

นายอนุพล ภูวพูนผล หนุ่มใหญ่ผู้เสียหาย กล่าวว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารทราบว่าเงินของตนที่ถูกถอนไป 20 ครั้ง จำนวน 400,000 บาท และเงินของพนักงานในบริษัทซึ่งมีเงินหายไปจากบัญชี 6-7 คน ตั้งแต่ 500 บาท ถึงหลักหมื่นบาท ได้ถูกกดจากตู้เอทีเอ็มในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดหน้าตู้เอทีเอ็มที่เงินถูกกดออกไป พร้อมจะรับผิดชอบจำนวนเงินที่หายไปทั้งหมด

พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ศรีประเสริฐ รอง ผกก.สส.สน.พญาไท กล่าวว่า มีผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความแล้ว 10 ราย ทั้งหมดเป็นลูกค้าของธนาคารทหารไทย สาขาพญาไท รวมยอดเงินที่หายไป 6 แสนกว่าบาท จากการตรวจสอบที่ตู้เอทีเอ็มที่สงสัยไม่พบเครื่องสกิมเมอร์หรือความผิดปกติ ถ้ามีการติดเครื่องสกิมเมอร์จริงก็น่าจะถอดออกไปแล้ว จึงยังไม่แน่ชัดเรื่องของต้นทางที่ขโมยข้อมูลบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไป แต่ปลายทางที่มีการถอนเงินจากเอทีเอ็มออกไปอยู่พื้นที่ จ.สงขลา ในช่วงดึกของวันที่ 11 พ.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 12 พ.ย. ได้ประสานไปยังศูนย์สืบสวน บช.ภ.9 ขอภาพวงจรปิดจากตู้เอทีเอ็มที่มีการมาถอนเงินออกไปเพื่อสืบหาตัวคนร้ายจากปลายทาง

รอง ผกก.สส.สน.พญาไทกล่าวอีกว่า เป็นไปได้สูงว่าคนร้ายเป็นคนไทยหรือเป็นแก๊งชาวมาเลเซียเพราะไปกดเงินในพื้นที่ภาคใต้ ขบวนการนี้น่าจะมีการติดสกิมเมอร์ข้อมูลจากตู้เอทีเอ็มหลายๆ ตู้ มา 1-2 เดือน ก่อนนัดวันดีเดย์กดเงินในวันที่ 11 ต่อเนื่องวันที่ 12 พ.ย.พร้อมกัน เชื่อว่าน่าจะเป็นคนละแก๊งที่ก่อเหตุในพื้นที่ สน.ลุมพินี เพราะคดีดังกล่าวเงินถูกถอนออกไปนอกประเทศ แต่มีลักษณะการโจรกรรมข้อมูลน่าจะใกล้เคียงกัน จะกลับไปดูแฟ้มข้อมูลเก่าเมื่อปี 2550-2551 ทั้งนี้ พนักงานที่ไปเติมเงินที่ตู้เอทีเอ็มให้ตรวจสอบตู้เอทีเอ็มว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ในส่วนคดีจะไม่รวมสำนวนกับคดีในพื้นที่ สน.ลุมพินี แต่อาจพิจารณาว่าจะส่งสำนวนให้ บก.ปอท.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสอบสวนต่อหรือไม่

ขณะเดียวกันทางฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี ได้ส่งเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับกรณีความปลอดภัยของบัตรเอทีเอ็มว่า ธนาคารมีมาตรการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์ระบบในภาพรวมตามมาตรการป้องกันความเสียหายล่วงหน้า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นพบว่ามีลูกค้า 12 ราย ได้รับความเสียหายโดยธนาคารจะชดเชยให้เร็วที่สุด

ด้าน พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.สตม. กล่าวว่า กรณีเรื่องปัญหาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนถูกแฮกข้อมูลหรือโจรกรรมเงินไป ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หลังจากได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาโดยเฉพาะกลุ่มชาวยุโรปตะวันออกที่มีความรู้ความสามารถในการโกงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับในคดีที่เกิดขึ้น ตนได้สั่งการให้ชุดฝ่ายสืบสวนและฝ่ายปรามปราบของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศลงพื้นที่ช่วยกันกวดขันหาข้อมูลผู้กระทำผิดและหาเบาะแสให้ไปถึงคนอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากเป็นปัญหาร้ายแรงระดับประเทศชาติหากสามารถจับตัวผู้ต้องหาได้จะนำมาดำเนินคดีต่อไป

ไทยรัฐออนไลน์
14 พฤศจิกายน 2556, 08:00 น.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/newspaper/382713


chusit

พบร่องรอยโจรไฮเทค แฮ็คข้อมูลจากตู้เอทีเอ็มแบงก์ดัง ทำขวัญผวา




ตำรวจแกะรอยล่า โจรไฮเทค แฮ็คข้อมูลจาก ตู้เอทีเอ็ม ที่แท้แก๊งมังกรจีน จากมาเลเซีย ใช้อุปกรณ์สกิมมิ่ง เจาะข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม ทิ้งไว้ 2 ปีก่อนย้อนรอยกลับมาก่อเหตุ

กรณีมีผู้เสียหายจำนวนมากเดินทางเข้าร้องทุกข์กับร้อยเวรสน.ลุมพินี ว่า เงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ หายไปโดยไม่รู้ตัว

รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 6 แสนบาท สร้างความหวาดวิตก ให้บรรดาลูกค้า ที่ใช้บริการธนาคารทั้ง 2 แห่ง เป็นอย่างมาก โดยพนักงานที่ทำงานอยู่ในอาคารต่างเดินทางไปที่ธนาคารที่ตัวเองเปิดบัญชี เพื่อตรวจสอบยอดเงินว่ามีหายไปหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ต่อมาที่สน.พญาไทก็ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน หลังจาก นายทวี

รัตนานุกูลพงษ์ อายุ 41 ปี พนักงานบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งภายในอาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ใกล้แยกพญาไท ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี

เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.กฤษณะ มั่นศักดิ์ พงส.สน.พญาไท เพื่อแจ้งความลงบันทึกประจำวัน หลังเงินในบัญชีธนาคารหายไปจำนวนมาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษบกิจ หรือ บก.ปอศ พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย

ผกก.5 บก.ปอศ. เปิดเผยว่า สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 4-5 ปี ก่อน ขณะนี้ตำรวจ ปอศ. ได้ประสานงานกับตำรวจในพื้นที่

รวมทั้งประสานข้อมูลของทางธนาคารที่ได้รับความเสียหาย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการสืบสวนหาตัวคนร้าย ที่ก่อเหตุแล้ว พบว่ากลุ่มคนร้ายได้ใช้อุปกรณ์ประเภทสกิมมิ่ง ประกอบด้วย ตัวช่องเสียบบัตร แป้นตัวเลข ตัวสกิมเมอร์ และกล้องรูเข็ม ในการคัดลอกข้อมูล ในการก่อเหตุ โดยพฤติกรรมของผู้ต้องหาจะเลือกตู้เอทีเอ็มในย่านธุรกิจแลัวจะเริ่มติดตั้งในช่วงเช้าที่ยังไม่มีผู้ใดมากดเงิน ก่อนนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปใช้ในการแฮ็กข้อมูลและไปกดเงินที่ประเทศ

ผกก.5 บก.ปอศ. กล่าวต่ออีกว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจพบความเคลื่อนไหวของสน.พญาไทแล้ว ซึ่งเบื้องต้นพบว่า หลังเกิดเหตุคนร้ายได้ไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม อ.สะเดา และอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา รวมทั้งจังหวัดสุราษฎ์ธานี ก่อนเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบว่า ขบวนการดังกล่าวเป็นชาวจีนเชื้อสายมาเลเซียน่าจะเคยก่อเหตุมาหลายครั้ง อย่างไรก็ตามยังพบข้อมูลจากทางธนาคารทหารไทยอีกว่ากลุ่มสกิมมิ่งได้ทำการคัดลอกข้อมูลไว้บางส่วนตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 54 ก่อนที่จะปล่อยเวลาผ่านมาถึง 2 ปี จึงก่อเหตุ ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทำไมกลุ่มคนร้ายถึงเพิ่งนำข้อมูลมาก่อเหตุ สำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ธนาคารจะรวบรวมผู้เสียหายทั้งหมดมาตรวจสอบว่าก่อนเกิดเหตุได้ไปกดเงินที่ตู้ใด เพื่อตรวจสอบตู้เอทีเอ็มที่ถูกสกิมมิ่งคัดลอกข้อมูล สำหรับปัญหาในขณะนี้เนื่องจากตู้เอทีเอ็มในบางตู้ไม่สามารถจับภาพวงจรปิดของผู้ใช้บริการได้อย่างชัดเจนในขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบตามล่าผู้ทำผิดต่อไป.


เดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดี 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 19:15 น.


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=194930

chusit

ตร.ได้ภาพ2คนร้ายแก๊งสกิมเมอร์เอทีเอ็ม






ตร.ปอศ. ได้ภาพ 2 คนร้าย แก๊งติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์โจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิตเหยื่อย่านพญาไท ลักษณะเป็นชาวจีนเชื้อสายมาเลเซีย ขณะที่ผู้เสียหายทยอยเข้าแจ้งความแล้ว 14 ราย


เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 15 พ.ย. พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท เปิดเผยความคืบหน้ากรณีคนร้ายแอบลักลอบติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ ที่ตึกซีพีทาวเวอร์ 3 ย่านพญาไท เพื่อดูดข้อมูลบัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็มของเหยื่อ ก่อนนำไปกดเงินออกจากบัญชี ว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายทยอยเข้าแจ้งความแล้วทั้งหมด 14 ราย ยอดความเสียหายรวมประมาณ 630,000 บาท ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ยังคงรอให้ผู้เสียหายรายอื่นๆที่เพิ่งรู้ตัวว่าถูกโจรกรรมข้อมูลทางการเงินให้มาแจ้งความ โดยจะรับแจ้งถึงวันที่ 18 พ.ย. นี้ จากนั้นจะรวบรวมหลักฐานการรับแจ้งความ และความเสียหายทั้งหมด ก่อนสรุปสำนวนส่งให้กับ บก.ปอศ. เพื่อนำไปดำเนินการตามจับกุมคนร้ายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า เวลานี้ทาง บก.ปอศ. ได้ภาพ 2 คนร้าย ลักษณะเป็นชาวจีนเชื้อสายมาเลเซีย โดยคนแรกเป็นชายร่างอ้วน สวมหมวกแก็ปสีขาว ใส่เสื้อยืดสีดำ นุ่งกางเกงยีนสีน้ำเงิน ส่วนอีกคนเป็นชายรูปร่างผอม สวมหมวกแก๊ปสีแดง ใส่เสื้อยืดสีขาว นุ่งกางยีนสีน้ำเงิน โดยทั้งสองได้ตระเวนนำบัตรเอทีเอ็มที่ก็อปปี้ข้อมูลของเหยื่อ มากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มหลายธนาคารในพื้นที่ อ.สะเดา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา.


เดลินิวส์ออนไลน์
วันศุกร์ 15 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:32 น.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=195150


chusit

จับรัสเซีย สกิมเมอร์เอทีเอ็ม กดเงินทั่วกทม. จนมุมที่โคราช ยึดบัตร300ใบ มีตร.ไทยร่วม!


รวบ 2 หนุ่มรัสเซียกับ 1 ตร.ไทย แก๊งสกิมเมอร์ ปลอมบัตรตระเวนกดเอทีเอ็มตร.ภาค 3 โคราชโชว์ฝีมือจับได้หน้าศาลากลางโคราช ยึดบัตรเครดิต-เอทีเอ็มได้กว่า 300 ใบ เงินเกือบ 6 ล้าน สอบพบก่อเหตุมาโชกโชนทั้งในกทม.และตจว. เจอข้อมูลในมือถือกดเงินมาแล้ว 60 กว่าล้านบาท ขยายผลไปยังผู้ร่วมแก๊ง ตะลึงก่อเหตุในไทยมาปีกว่าๆ น่าจะได้เงินไปเป็นพันล้าน

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่บช.ภาค 3 พล.ต.ท. ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา ผบช.ภาค 3 พร้อมด้วยพล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา พล.ต.ต.ชาติชาย เอี่ยมแสง ผบก.ตม.4 สตม. และตำรวจสภ.เมืองนครราชสีมา สภ.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา แถลงผลจับกุมผู้ต้องหาแก๊งปลอมและใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ประกอบด้วย ด.ต.นนทพันธ์ แสงสุข อายุ 37 ปี ตำรวจท่องเที่ยว, นายวาซิลี อิวานนอฟ อายุ 27 ปี และนายเซอร์กี้ ปีเตอร์เนฟ อายุ 38 ปี ทั้งคู่เป็นชาวรัสเซีย ของกลาง บัตรเครดิตปลอม 328 ใบ และเงินสด 2,900,000 บาท

ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีกลุ่มคนร้ายชาวต่างประเทศใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มปลอม ตระเวนกดเงินตามตู้กดเงินของธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศ แล้วหลบหนีเข้ามากบดานอยู่ใน จ.นครราชสีมา ผบช.ภาค 3 จึงสั่งการผบก.ภ.จว.นครราชสีมา จัดกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกระจายเฝ้าตามตู้กดเงิน กระทั่งเมื่อคืนวันที่ 17 พ.ย. พบชาวต่างชาติ 2 คน เข้ามากดเงินที่ตู้กดเงินธนาคารกรุงไทย หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ท่าทีมีพิรุธ เนื่องจากมีบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มพกติดตัวเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวขอตรวจค้น

เบื้องต้นพบว่าชาวต่างชาติ ทั้งสองมีบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มอยู่ในกระเป๋ามากกว่า 100 ใบ เงินสด 5 หมื่นบาท จึงควบคุมตัวทั้งคู่คือนายวาซิลี อิวานนอฟ และนายเซอร์กี้ ปีเตอร์เนฟ ชาวรัสเซียไว้สอบสวน

ทั้งนี้ระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอยู่นั้นมีรถยนต์โตโยต้า วิช สีบรอนซ์ ทะเบียน สร 5501 กทม. ขับเข้ามารับชาวต่างชาติทั้งสอง แต่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่กลับรีบขับหลบหนีไป เจ้าหน้าที่จึงสั่งสกัดจับจนสามารถจับกุมได้ในพื้นที่สภ.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีด.ต.นนทพันธ์ แสงสุข ตำรวจท่องเที่ยว เป็นคนขับ ตรวจค้นภายในรถยนต์พบบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มปลอมกว่า 200 ใบ โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และเงินสด 2,800,000 บาท

สอบสวน ด.ต.นนทพันธ์ให้การว่า ชาวรัสเซียทั้งสองว่าจ้างให้ขับรถตระเวนกดเงินตามตู้ของธนาคารต่างๆ ได้ค่าจ้างครั้งละ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่กดได้ โดยทำมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งจะเป็นคนขับเพื่อป้องกันการตรวจจับของตำรวจ โดยอาศัยความเป็นตำรวจท่องเที่ยวออกอุบายอ้างว่ากำลังพานักท่องเที่ยวไปส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้น ส่วนบัตรเครดิตและเอทีเอ็มไม่รู้ว่าชาวรัสเซียทั้งสองได้มาอย่างไร

ส่วนชาวรัสเซียทั้งสองให้การรับสารภาพว่า บัตรเครดิตและเอทีเอ็มปลอมนั้น ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งข้อมูลบัตรจะมีชาวต่างชาติที่อยู่นอกประเทศ ไทยดำเนินการให้ สำหรับสาเหตุที่รู้จักกับด.ต.นนทพันธ์ เนื่องจากเคยถูกด.ต.นนทพันธ์จับกุมมาก่อนหน้านี้ แล้วพวกตนเสนอเงินให้เพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุม ซึ่งตั้งแต่นั้นมา ด.ต.นนทพันธ์ก็จะรับหน้าที่ขับรถพาไปกดเงินเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจค้นจับกุม ของ เจ้าหน้าที่

เบื้องต้นดำเนินคดีข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ผู้อื่นในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะฯ และใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งสิ่งใด (บัตรอิเล็ก ทรอนิกส์ปลอม) อันได้โดยรู้ว่าเป็นของที่ทำปลอมหรือแปลงขึ้น สำหรับบัตรของกลางทั้งหมดเป็นบัตรปลอมจากกว่า 50 ประเทศ โดยเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะเป็นแก๊งที่ใช้อุปกรณ์คัดลอกข้อมูลบัตร อิเล็กทรอนิกส์ (สกิมเมอร์) แอบคัดลอกข้อมูลบัตรของเหยื่อตามตู้เอทีเอ็มต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ก่อนใช้ข้อมูลไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มซึ่งกำลังเป็นอาชญา กรรมใหม่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในเมืองไทยเวลานี้ ล่าสุดเจ้าหน้าที่กำลังขยายผลไปยังผู้ร่วมแก๊งและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

พล.ต.ต.ชาติชายกล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหาชาวรัสเซียเคยก่อเหตุในกทม. โดยเฉพาะบริเวณถนนวิทยุและย่านลุมพินี จากการตรวจค้นห้องพักพบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือระบุว่าเคยกดเงินในประเทศไทย แล้วไม่ต่ำกว่า 65 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้เสียหายจากพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมและดูตัวผู้ต้องหาได้ที่สภ.เมืองนครราชสีมา

ผบก.ตม.4 สตม. กล่าวอีกว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยบัตรเอทีเอ็มของกลางเป็นของคนไทยเพียง 1 บัญชี ก่อเหตุมาร่วม 1 ปีแล้ว มูลค่าความเสียหายน่าจะถึงระดับ 1 พันล้านบาท ขณะนี้ได้ติดตามไปควบคุมตัวภรรยาของผู้ต้องหาชาวรัสเซีย เพื่อสืบสวนสอบสวนขยายผลไปถึงผู้บงการ และติดตามเงินกลับคืนมาให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

วันเดียวกัน นางชนาธิป จริยาวิโรจน์ ผอ.ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ศคง.ขอแจ้งเตือนประชาชนที่ใช้บัตรเอทีเอ็มเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำ บัตร ซึ่งวิธีการล้วงข้อมูลของมิจฉาชีพมี 2 แบบ คือ การใช้เครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กหรือเครื่องสกิมเมอร์ โดยนำเครื่องไปติดตั้งที่ช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็มเพื่อคัดลอกข้อมูล พร้อมติดตั้งเครื่องครอบกดตัวเลข หรือติดกล้องขนาดจิ๋วเพื่อแอบดูรหัสขณะกดเงิน อีกวิธีคือใช้เครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กขนาดพกพา หรือเครื่องแฮนด์เฮลด์สกิมเมอร์ ซึ่งมีขนาดเล็กมากสามารถซ่อนในฝ่ามือได้ แล้วแอบรูดบัตรของเจ้าของบัตรเพื่อคัดลอกข้อมูลขณะเผลอ หรือส่งบัตรให้แก่มิจฉาชีพที่อาจทำทีเข้ามาช่วยเหลือหรือให้บริการ

"ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก มิจฉาชีพมีวิธีล้ำสมัยเพื่อขโมยเงินของเรา ดังนั้นเราควรรู้วิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดยก่อนใช้ตู้เอทีเอ็มทุกครั้ง ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ หากสงสัยไม่ควรใช้และรีบแจ้งธนาคารทราบทันที รวมทั้งควรสังเกตความผิดปกติบริเวณตู้เอทีเอ็ม เช่น กล่องใส่โบรชัวร์ เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดรหัส และควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัส บัตร นอกจากนี้ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และรีบเปลี่ยนรหัสทันทีเมื่อสงสัยว่าบุคคลอื่นทราบรหัสของเรา" นางชนาธิปกล่าวและว่า ทั้งนี้ควรติดตามข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันกลวิธีของมิจฉาชีพอยู่เสมอ ซึ่งข้อมูลที่เผยแพร่ใน www.facebook.com/hotline1213 เป็นอีกช่องทางที่สามารถติดตามข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการเงินได้ และหากพบว่าถูกแฮ็กข้อมูลและถูกขโมยเงินจากบัญชี โทร.ปรึกษาคอลเซ็นเตอร์ ศคง. โทร.1213

วันเดียวกันเวลา 13.30 น. พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.สตม. นำกำลังพร้อมด้วยหมายศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าตรวจค้นภายในโรงแรมแห่งหนึ่งย่านถ.นราธิวาสราชนครินทร์ เขตสาทร กทม. ซึ่งเป็นห้องพักของผู้ต้องหาชาวรัสเซียที่ถูกจับได้ที่จ.นครราชสีมา จุดแรกค้นห้องพักเลขที่ 428 ชั้น 4 ของนายเซอร์กี้ ปีเตอร์เนฟ พบนางอเล็กซานดรา ปีเตอร์เนฟ อายุ 35 ปี อยู่ในห้องจึงควบคุมตัวพร้อมยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และพาสปอร์ตไปตรวจสอบ เจ้าหน้าที่อีกชุดค้นห้องเลขที่ 1426 ชั้น 14 ของนายวาซิลี พบเงินสด 1,577,000 บาท และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ยูเออี รัสเซีย อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบคีย์การ์ด ห้องพักของโรงแรมต่างๆ อีก 17 ใบ ทรัพย์สินของมีค่าอีกจำนวนมาก จึงยึดของกลางไว้เป็นหลักฐาน

ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 08:42 น.

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5EZ3lOVFF4TlE9PQ==&sectionid=

chusit

ไล่ออกนายดาบ ร่วมแก๊งรัสเซีย สั่งสอบ'สารวัตร'

ให้ออกแล้ว ด.ต.นอกแถวสังกัดกลุ่มงาน สืบสวน 1 บก.ทท. หลังถูกจับขณะตระเวนกดเอทีเอ็มในตัวเมืองโคราชพร้อม 2 ผู้ต้องหาชาวรัสเซีย ผบก.ทท.เผยผู้บังคับบัญชาอาจโดนด้วย หลังตั้งกรรมการสอบ ด้านบก.ปอศ. ประสานขอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางตามแก๊งสกิมเมอร์ที่ก่อเหตุในพื้นที่ สน.ลุมพินี และ สน.พญาไท ส่วนที่อเมริกาไม่น้อยหน้าจับแก๊งแฮกข้อมูลธนาคาร ก่อนทำบัตรปลอมไปตระเวนกดเงินทั่วนิวยอร์ก พบเป็นเครือข่ายอาชญากรรมการเงินข้ามชาติมีสมาชิกใน 20 ประเทศทั่วโลก

จากกรณีตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ร่วมกับตำรวจ บก.ตม.4 จับกุมแก๊งปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ตระเวนกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา ได้ผู้ต้องหา 3 คน ประกอบด้วยชาวรัสเซีย 2 คน และตำรวจยศ ด.ต. สังกัดกลุ่มงานสืบสวน 1 บก.ทท.พร้อมของกลางเงินสด 2,895,000 บาท บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม 328 ใบ โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง สมุดข้อมูล 1 เล่ม สมุดบัญชีธนาคาร 1 เล่ม  และรถเก๋งโตโยต้าวิช สีเทา ทะเบียน สร 5501 กรุงเทพมหานคร ก่อนขยายผลจนสามารถยึดของ กลางจำนวนมากที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตสาทร กทม.

สำหรับความคืบหน้าเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 พ.ย. พล.ต.ต.วราวุธ ทวีชัยการ ผบก.สส.สตม.เผยว่า หลังการจับกุมดังกล่าว ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหาปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และได้ควบคุมตัวทั้งหมดไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ สตม.ผลักดันออกนอกประเทศต่อไป นอกจากนี้  บก.สส.สตม.ยังได้รับการประสานให้ตรวจค้นห้องพักของผู้ต้องหา ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในเขตสาทร กทม. รวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งให้ สภ.เมืองนครราชสีมา ส่วนนางอเล็กซานดรา ภรรยาของนายเซอกี้ ปีเตอร์นอฟ หนึ่งในผู้ต้องหา ที่พบในห้องพักของโรงแรมยังไม่สามารถสอบปากคำได้ เนื่องจากพูดได้เพียงภาษา รัสเซียและเป็นการประสานขอเข้าตรวจค้นเท่านั้น จึงไม่มีการควบคุมตัว พร้อมประสาน สภ.เมืองนครราชสีมาส่งพนักงานสอบสวนมาสอบปากคำ

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.ต.อภิชัย ธิอามาตย์ ผบก.ทท. มีคำสั่งให้ ด.ต.นนทพันธ์ แสงสุข ผบ.หมู่ กก.สส.1 บก.ทท. ออกจากราชการแล้ว หลังตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับแก๊งชาวรัสเซียปลอมบัตรเอทีเอ็ม พร้อมสั่งตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยผู้บังคับบัญชาของ ด.ต.นนทพันธ์ ตั้งแต่ระดับ สว.และรอง สว. ว่าบกพร่องในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ โดยต้องชี้แจงผู้บังคับบัญชาภายใน 30 วัน ส่วนจะมีบุคคลอื่นใน บก.ทท.เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ อยู่ระหว่างสอบสวนในทางลับ

ส่วนคดีแก๊งสกิมเมอร์ ที่คนร้ายแอบติดเครื่องคัดลอกข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับตู้เอทีเอ็ม ก่อนนำไปทำบัตรใหม่เพื่อถอนเงินสดออกจากบัญชีเหยื่อ ในพื้นที่ สน.พญาไทและ สน.ลุมพินีนั้น พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย ผกก.5 บก.ปอศ. เผยว่า ขณะนี้ บก.ปอศ. นั้นกำลังรอสำนวนจากพนักงานสอบสวน สน.พญาไท และ สน.ลุมพินี พร้อมให้ตัวแทนจากธนาคารที่เป็นผู้เสียหายแท้จริงมาแจ้งความที่ บก.ปอศ.เบื้องต้นได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนดำเนินการสืบสวนทางลับ เพื่อหาข้อมูลแก๊งที่ก่อเหตุดังกล่าว ส่วนที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา จับกุม 2 ผู้ต้องหาชาวรัสเซีย พร้อม ด.ต.สังกัด บก.ทท.นั้น ได้ประสานขอข้อมูลผู้ต้องหาทั้งหมดจาก สภ.เมืองนครราชสีมาแล้ว เพื่อเป็นแนวทางติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุต่อไป

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตำรวจสหรัฐอเมริกาจับกุมผู้ต้องสงสัย 6 รายทั้งหมดเป็นชาวอเมริกันที่อาศัยในนครนิวยอร์ก อาจถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 7 ปี 5 เดือน และสั่งปรับเงินอีกกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7,500,000 บาท ในคดีร่วมกันก่ออาชญากรรมด้านการเงินข้ามชาติ หลังทั้งหมดนำบัตรเอทีเอ็มปลอมไปตระเวนกดเงินสด 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากตู้เอทีเอ็ม 140 จุดในนครนิวยอร์ก โฆษกสำนักงานอัยการเขตอีสต์ดิสทริกต์ในนครนิวยอร์ก เผยว่า ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวพันกับเครือข่ายอาชญากรรมการเงินข้ามชาติมีสมาชิกใน 20 ประเทศทั่วโลก ใช้วิธีเจาะระบบฐานข้อมูลธนาคารประเทศต่างๆ ก่อนปลอมบัตรเอทีเอ็มให้ผู้ร่วมกระทำผิดนำไปกดเงินสด ขณะที่ตำรวจสหรัฐฯประเมินว่าเงินสดซึ่งถูกถอนออกมามีจำนวนกว่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,350 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ. ตำรวจเยอรมนีจับผู้ต้องสงสัยชาวดัตช์ 2 รายนำบัตรเอทีเอ็มปลอมไปกดเงินสดในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี

ไทยรัฐออนไลน์
20 พฤศจิกายน 2556, 09:00 น.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/newspaper/384020

chusit

เสียงสะท้อนติดชิปการ์ด แก้โจทย์ "สกิมมิ่ง" บัตร ATM หรือไม่

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์




ปัญหาเรื่องการทุจริตโดยคัดลอกข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต หรือที่เรียกว่า "สกิมมิ่ง" ได้ปลุกกระแสความตื่นตัวและการป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนมาใช้ "ชิปการ์ด" แทนระบบแถบแม่เหล็ก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีดำริให้ทุกธนาคารปรับมาใช้ระบบนี้ภายในกรอบเวลา 2 ปี


ในมุมธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็กำลังศึกษาระบบ โดย "กฤษณ์ จันทโนทก" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กำลังเลือกระบบซอฟต์แวร์และวิธีการปรับรูปแบบของระบบเอทีเอ็มให้เหมาะสม อาจใช้ชิปการ์ดผสมกับวิธีอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็ต้องลงทุนเปลี่ยนมากพอสมควร เพราะตู้เอทีเอ็มมีทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า บางเครื่องก็อาจต้องเปลี่ยนตู้ใหม่ ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ย 2-3 แสนบาท/ตู้



เช่นเดียวกับ "พงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการป้องกันการทุจริต ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้พยายามติดตั้งระบบ Anti-Skimming เพิ่มเติม แต่ในระยะเวลาไม่นาน กลุ่มมิจฉาชีพก็ยังดัดแปลงวิธีสกิมมิ่งได้เช่นเดิม ทำให้การลงทุนกับระบบป้องกันที่ผ่านมาแทบจะไร้ผล

"ส่วนตัวยังมองว่าไม่มีอะไรที่สามารถป้องกันการทุจริตได้100% แม้แต่การเปลี่ยนเป็นระบบชิป ก็ไม่อาจการันตีว่าจะป้องกันปัญหาได้ แต่เมื่อลงทุนระบบไปแล้ว คงใช้เวลาเป็นพันปีกว่าจะคุ้มทุน เพราะเราไม่สามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ ทางเรามีตู้เอทีเอ็มกว่า 9,000 ตู้ ซึ่ง 70% เป็นตู้รุ่นเก่าที่ไม่รองรับชิปการ์ด รวมถึงมีบัตรเอทีเอ็มและเดบิตมากกว่า 10 ล้านใบ ดังนั้นการเปลี่ยนระบบจึงกินเวลาและเงินลงทุนมากพอสมควร"

ด้าน "ขจรวุฒิ ตยานุกรณ์" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะธนาคารไทยรายแรกและรายเดียวที่มีบัตรเดบิตติดชิป ได้อธิบายว่า การทำงานของชิปการ์ดจะฝังซีพียูเล็ก ๆ ไว้ภายในอีกชั้นหนึ่ง โดยเมื่อตู้เอทีเอ็มอ่านข้อมูลในแถบแม่เหล็กก่อน จะมีเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้น ขณะที่ข้อมูลบัญชีของบัตรจะบันทึกในชิปประมวลผลเท่านั้น ซึ่งเข้ารหัสไว้อีกชั้นและอนุญาตให้อ่านข้อมูลนี้ได้เฉพาะระบบที่กำหนดเท่านั้น

"ต่อให้บัตรนี้ถูกสกิมมิ่งก็จะลอกข้อมูลได้บางส่วนเฉพาะที่อยู่ในแถบแม่เหล็กเท่านั้น แต่ข้อมูลในชิปประมวลผลไม่มีทางดึงออกไปได้ แต่บัตรนี้ก็มีข้อจำกัดว่าจะต้องใช้กับตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพ เพราะสามารถอ่านชิปประมวลผลนี้ได้ เรามีตู้เอทีเอ็มประมาณ 8,300 ตู้ ก็ครอบคลุมได้ดีระดับหนึ่ง แต่ถ้าทำได้ทั้งระบบก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค"

อย่างไรก็ตาม ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องระมัดระวังในการทำธุรกรรมมากขึ้นด้วย แม้เทคโนโลยีจะป้องกันดีขึ้น แต่มิจฉาชีพเองก็พัฒนาให้สามารถทำได้ "เนียนและเร็ว" กว่าเดิม แม้แต่ช่องเสียบบัตรที่จะมีไฟกะพริบจึงจะปลอดภัยนั้น ก็ได้รับความยืนยันว่า "ไม่อาจเชื่อได้เสมอไป"

ทางที่ดีควรป้องกันตั้งแต่เลือกตู้ที่อยู่ในทำเลที่ดูปลอดภัย เช่น ในตัวอาคารหรือสาขาของธนาคาร สังเกตความผิดปกติของตู้อยู่เสมอ และหากเป็นไปได้ก็ควรใช้ตู้เดิมเพื่อสังเกตความผิดปกติได้ง่าย และควรใช้มือป้องเวลากดรหัสบัตร รวมถึงควรทำการเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เป็นระยะด้วย

อีกวิธีป้องกันคือผู้บริโภคสามารถสมัครบริการเสริมSMS Alert แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของบัญชีอยู่ตลอดเวลาด้วย ค่าบริการเดือนละ 10 บาท คิดง่าย ๆ เพียงวันละไม่ถึง 1 บาท แลกกับความอุ่นใจที่มากขึ้น

ชิปการ์ดอาจจะเป็นคำตอบเพื่อป้องกันปัญหาสกิมมิ่งบัตรเอทีเอ็มได้ แต่ผู้บริโภคก็ควรมีแนวทาง "ปกป้อง" เงินของตัวเองด้วย

ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 14:23 น.

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5EYzFPVFE1Tnc9PQ==&subcatid= 

chusit

ปอศ.รวบหัวโจกแก๊งรัสเซียปลอมบัตรเอทีเอ็ม



ตำรวจปอศ.ตามรวบแก๊งปลอมบัตรเครดิต ชาวรัสเซียเพิ่มอีก 1 คน เชื่อเป็นคนประสานงานกับ นายใหญ่ผู้บงการ แต่เจ้าตัวยังให้การปฏิเสธ


เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 21 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผบก.ปอศ. พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.สถิตย์ พรหมอุทัย ผกก.5 บก.ปอศ. พ.ต.ท.จักรกริช เสริบุตร สว.กก.5 บก.ปอศ. พ.ต.ท.มนัส ชมเชย สว.กก.สส.จว.นครราชสีมา พ.ต.ท.ทศพร เพียรปรุ สว.สส.สภ.เมืองนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ กก.5 บก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่ บก.ภ.จว.นครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม นายอังเดร เวเรเทลนิคอฟ (Mr.Andrey Veretenikov) อายุ 46 ปี สัญชาติรัสเซีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครราชสีมา เลขที่ จ.352/2556 ลงวันที่ 20 พ.ย.56 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ผู้อื่นในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ,ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใดๆ (บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม) อันได้มีโดยรู้ว่าเป็นของปลอมหรือแปลงขึ้น และร่วมกันกระทำผิดตามความผิดมูลฟอกเงิน อันเป็นความผิดที่เกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติหรือเพื่อการค้า โดยจับกุมได้พร้อมของกลางบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดมีแถบแม่เหล็ก จำนวน 16 ใบ โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 3 เครื่อง และแฟรชไดฟ์ 3 อัน

โดย พล.ต.ต.พงษ์เดช กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ก่อหน้านี้เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สภ.เมืองนครราชสีมา สามารถจับกุมตัวนายวาซิลี อิวานอฟ อายุ 27 ปี และนายเซอกี้ ปีเตอร์เนฟ อายุ 38 ปี สองผู้ต้องหาแก๊งสกริมเมอร์ชาวรัสเซีย ได้พร้อมของกลางบัตรอิเล็กทรอนิคส์ จำนวน 328 ใบ ขณะกำลังตระเวนกดเงินตามตู้เอทีเอ็มในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการสอบสวนขยายผลโดยผู้ต้องหาทั้ง 2 คนให้การซัดทอดว่า เงินที่กดมาได้นั้น พวกตนจะได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะนำไปให้ นายอังเดร เพื่อโอนส่งต่อไปให้กับผู้บงการที่ใหญ่กว่า ทางเจ้าหน้าที่จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับเอาไว้ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สืบสวนจนกระทั่งทราบว่า เจ้าตัว หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซอยสุขุมวิท 11 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา จึงนำกำลังไปดักซุ่ม จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.45 น.ของเดียวกันนี้ ก็สามารถจับกุม นายอังเดร ได้พร้อมของกลางดังกล่าว

พล.ต.ต.พงษ์เดช กล่าวต่อไปอีกว่า จากการสอบปากคำเบื้องต้น นายอังเดร ยังให้การปฎิเสธ โดยอ้างว่า ทำธุรกิจเรื่องประดับสตรีแฮนด์เมดอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต และเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบการเดินทางพบว่า เจ้าตัวเดินทางเข้าออกประเทศไทยบ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุด เข้ามาเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นภายในห้องพักก็พบพยานหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับผู้ต้องหาชาวรัสเซียที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ และข้อมูลเกี่ยวกับสกริมเมอร์ เช่นคู่มือการใช้สกริมเมอร์ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ คีย์การ์ดห้องพักตามโรงแรมที่เป็นแถบแม่เหล็ก และยังพบตั๋วเครื่องบินกลับประเทศรัสเซียในวันที่ 28 พ.ย.นี้ด้วย คาดว่า นายอังเดร จะใช้หลบหนีกลับประเทศ

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ จะทำการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม เนื่องจากเชื่อว่าน่าจะมีตัวการใหญ่อยู่สูงกว่า นายอังเดร อย่างแน่นอน พร้อมทั้งตรวจสอบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้ข้อมูลบัตรผู้เสียหายมาได้อย่างไร ใครเป็นคนนำข้อมูลมาให้ เนื่องจากมีผู้เสียหายอยู่ถึง 50 ประเทศด้วยกัน


เดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดี 21 พฤศจิกายน 2556 เวลา 20:07 น.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=196585

chusit

ผ่าคดีสกิมเมอร์เอทีเอ็ม แก๊งหมีขาวกดเงินทั่วปท. ผงะตร.ไทยร่วมทีมด้วย!


เมืองไทยซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรม ชาติอันสวยงาม เป็นที่หลงใหลของผู้คนทั่วโลกนับล้านคนที่หลั่งไหลมาเยือนเป็นประจำทุกปี

ด้วยการเดินทางเข้า-ออกได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้มิจฉาชีพกลุ่มหนึ่งยึดเอาไทยเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ

แต่ก็ไม่อาจพ้นเงื้อมมือตำรวจไทยไปได้

ผลงานล่าสุดคือบุกจับแก๊งหมีขาว ที่ใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตปลอมตระเวนกดเงินไปทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท

แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีตำรวจไทยนอกแถวเข้าไปร่วมอยู่ในวงจรอุบาทว์ของแก๊งนี้ด้วย

เหตุการณ์ทลายคนร้ายแก๊งหมีขาวรายนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผบก.ปอศ. พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม นายอังเดร เวเรเทลนิคอฟ อายุ 46 ปี สัญชาติรัสเซีย

ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครราช สีมา พร้อมของกลางบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดมีแถบแม่เหล็กจำนวน 16 ใบ โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 3 เครื่อง และแฟลชไดรฟ์ 3 อัน

ซึ่งนายอังเดรถูกเพื่อนร่วมแก๊งที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ให้การซัดทอดถึง จนเจ้าหน้าที่บุกไปจับตัวภายในโรงแรมแอมบาสเดอร์ ซอยสุขุมวิท 11 ที่ใช้เป็นแหล่งกบดาน

จุดเริ่มต้นของคดีนี้มาจาก พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา ผบช.ภาค 3 และพล.ต.ต.ชาติชาย เอี่ยมแสง ผบก.ตม.4 สตม.สืบทราบว่ามีกลุ่มคนร้ายชาวต่างประเทศใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มปลอมตระเวนกดเงินตามตู้กดเงินของธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศแล้วหลบหนีเข้ามากบดานอยู่ใน จ.นครราชสีมา จึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกระจายกำลังเฝ้าจับตาดูตู้เอทีเอ็มตามจุดต่างๆ

กระทั่งเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 17 พ.ย. พบนายวาซิลี อิวานนอฟ อายุ 27 ปี และ นายเซอร์กี้ ปีเตอร์เนฟ อายุ 38 ปี ชาวรัสเซีย ยืนอยู่หน้าตู้เอทีเอ็มที่เกิดเหตุ ท่าทางมีพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าตรวจค้น

กระทั่งพบว่าทั้งคู่มีบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มอยู่ในกระเป๋ามากกว่า 100 ใบ และเงินสดอีก 5 หมื่นบาท!!?

ระหว่างกำลังตรวจค้น มีรถโตโยต้า วิช สีบรอนซ์ ทะเบียน สร 5501 กรุงเทพมหานคร ขับเข้ามาจอดดูเหตุการณ์ ก่อนรีบขับหลบไป เจ้าหน้าที่จึงวิทยุแจ้งสกัดจับจนเกิดการขับรถไล่ล่ากันอยู่พักใหญ่

กระทั่งรถคันดังกล่าวไปจนมุมในพื้นที่ สภ.โพธิ์กลาง

ตรวจค้นภายในรถพบบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มปลอมกว่า 200 ใบ โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และเงินสดอีก 2,800,000 บาท

แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมต้องตกใจก็คือ ชายหนุ่มผู้ขับรถคันดังกล่าวคือ ด.ต.นนทพันธ์ แสงสุข อายุ 37 ปี สังกัดตำรวจท่องเที่ยว

นายดาบตำรวจนอกแถวสาร ภาพว่าเข้ามาร่วมแก๊งชาวรัสเซียทั้งคู่เพราะก่อนหน้านี้ เคยจับกุมทั้งคู่ในข้อหาใช้บัตรเครดิตและบัตรเอที เอ็มปลอม

แต่แก๊งคนร้ายพูดจาเกลี้ยกล่อมให้ร่วมงานด้วยกัน โดยเสนอส่วนแบ่งให้ 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่กดได้ในแต่ละครั้งจึงร่วมมือด้วย โดยทำหน้าที่เป็นคนขับรถรับส่งไปก่อเหตุตามสถานที่ต่างๆ

หากพบด่านตรวจค้นจะอ้างว่าพานักท่องเที่ยวไปส่ง เพื่อเป็นการตบตาตำรวจด้วยกัน!!?

ต่อมาวันที่ 18 พ.ย. พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.สตม.ก็คุมกำลังเข้าตรวจค้นห้องพักของผู้ต้องหาชาวรัสเซียทั้งคู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตสาทร กรุงเทพฯ

พบเงินสด 1,577,000 บาท และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ยูเออี รัสเซีย อีกจำนวนหนึ่ง

นายวาซิลีและนายเซอร์กี้ยังให้การซัดทอดว่า เงินที่กดได้ทั้งหมดส่งต่อไปให้นายอังเดร ผู้ต้องหารายล่าสุด กระทั่งเจ้าหน้าที่วางแผนบุกเข้าตะครุบตัวได้คารังขณะเตรียมหลบหนีออกนอกประเทศ

เพราะพบตั๋วเครื่องบินกลับประเทศรัสเซียในวันที่ 28 พ.ย.นี้ด้วย

นอกจากนั้นยังพบหลักฐานว่า คนร้ายแก๊งนี้ตระเวนก่อเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมานานกว่า 1 ปีแล้ว มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านบาท!!?

หลังจากนี้จะเค้นปากคำผู้ต้องหาทั้งหมดเพื่อลากคอจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังมาดำเนินคดี และติดตามทรัพย์สินทั้งหมดกลับคืนมาให้มากที่สุด

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานอันสดสวยของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทย


ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5UTXdNekUwT0E9PQ==&sectionid= 

admin_01