ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ กับการดำเนินคดีอาญา
การดำเนินการสืบสวน-สอบสวนในปัจจุบัน นอกจากจะใช้วิธีการโดยการคัดเลือกตัวบุคคล ผู้จะทำการสืบสวนหรือหาพยานหลักฐานโดยบุคคลดังกล่าวแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาวิธีการและประสิทธิภาพในการค้นหาความจริง โดยการนำวิทยาการตำรวจ ( Ulilization of Scientific Evidence ) อันได้แก่ การอาศัยพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทางนิติเวชศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยร่องรอยแห่งคดีที่เกิดขึ้น
ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์สาขาอนูพันธุศาสตร์พันธุวิศวกรรมศาสตร์ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ เจ ดี วัตสัน ( J.D.Watson ) และ เอช เอฟ ซี คริก ( H.F.C Crick ) ได้เสนอโครงสร้าง ดี เอ็น เอ ในปี ค.ศ. 1953 ว่าเป็นแบบสายเกลียวคู่ในลักษณะการคล้ายกันรูปบันไดเกลียวกลมโดยมีสายเชื่อมระหว่างน้ำตาลกับฟอสเฟตสองสาย ทำหน้าที่เสมือนกับราวบันไดทั้งสองข้างส่วนคู่เบสที่ยื่นออกมาจากแต่ละสายและยึดต่อกันระหว่างคู่เบส A-T และ G-C ทำหน้าที่เสมือนเป็นขั้นบันได โครงสร้างของ ดี เอ็น เอ ตามแบบจำลองนี้มีคุณสมบัติทางเคมีสอดคล้องกับคุณสมบัติทางชีววิทยาของยีนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นคุณที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของยีนในรูปแบบของรหัสที่เกิดขึ้นจากการเรียงลำดับในโมเลกุล ดี เอ็น เอ การดังกล่าวนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการศึกษาพันธุศาสตร์ในระดับโมเลกุล ( Molecular genetics ) ที่ลงไปถึงความเร้นลับของรหัสพันธุกรรมที่ประกอบกันเข้าเป็นภาษาทางเคมีที่สะสมเป็นข้อมูลข่าวสารพันธุกรรมอย่างมากมายมหาศาล นำไปสู่การค้นพบวิธีการหาลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ( DNA Fingerprints) ที่สามารถบ่งบอกความเป็นปัจเจกบุคคลในตัวเองที่ไม่เหมือนใครได้เช่นเดียวกับลายพิมพ์นิ้วมือ ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานนิติเวชเพื่อพิสูจน์ความเกี่ยวพันของบุคคลในคดีอาญาที่รุนแรง คดีฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย และการข่มขืนกากระทำชำเราในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ
ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ เป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติที่สร้างให้แต่ละบุคคลแตกต่างกันและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคน เช่นเดียวกับลายพิมพ์นิ้วมือ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ความแตกต่างของลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ เกิดขึ้นจากความแตกต่างของลำดับเบสจำเพาะ A-T และ G-C ขนาดสั้นจำนวนซ้ำ ๆ กัน กระจายไปทั่วบนเส้น ดี เอ็น เอ ตำแหน่งการกระจายของลำดับเบสจำเพาะที่แตกก่อให้เกิดแบบแผนของการกระจายลำดับเบสจำเพาะนั้นอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคน ซึ่งหลังจากการวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ จะปรากฏเป็นลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ที่เป็นแถบเหมือนแถบ Bar ที่ติดอยู่ตามสินค้าในห้างสรรพสินค้น
การนำลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ มาใช้ในการกลั่นกรองมูลคดีในชั้นสืบสวน-สอบสวน ถือว่าเป็นการใช้วิทยาการตำรวจ( Police Science ) เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานเข้าช่วยในการคลี่คลายคดี โดยเฉพาะในคดีที่ขาดประจักษ์พยานเพราะโดยสภาพของคดีอาญาทีรุนแรง พยานหลักฐานที่พบในสถานที่เกิดเหตุมักได้แก่ เลือด เส้นผม ขน อาวุธ และเสื้อผ้าของผู้เสียหายหรือของผู้กระทำความผิด สิ่งคัดหลั่งดังกล่าวจะมีสารพันธุกรรม คือ ดี เอ็น เอ ( DNA : Deoxyribonucleic Acid ) เป็นส่วนประกอบที่สามารถจะสกัด ดี เอ็น เอ ออกมาเพื่อนำเอาลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ เปรียบเทียบกับลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ของผู้ต้องสงสัยที่ได้จากการเจาะเลือดพิสูจน์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ เดียวกันก็แสดงว่าเลือด อสุจิ เส้นผม หรือขน ในที่เกิดเหตุเป็นของผู้ต้องสงสัยแน่นอนเพราะจากการศึกษาทดลองทางสถิติพบว่า โอกาสของความน่าจะเป็นคนที่จะมีลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ซ้ำกัน โดยบังเอิญเท่ากับ 1 ใน 100 ล้านล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรเพียง 60 กว่าล้านคน มียกเว้นก็เฉพาะในคู่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันเท่านั้นที่จะมีลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสืบสวน-สอบสวน เพราะการนำลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ มาช่วยในกระบวนการกลั่นกรองในชั้นพนักงานสืบสวนทำให้แนวทางการสืบสวนแคบลงจนถึงตัวผู้กระทำความผิดในขณะที่วิธีการพิสูจน์ทางนิติเวชแบบดั้งเดิม เช่น การหาหมู่เลือด ( A B O blood Group ) เส้นผม ขน ยังมีข้อจำกัดในการแยกบุคคลออกเป็นกลุ่ม ๆ เท่านั้น ไม่สามารถที่จะชี้เฉพาะลงไปได้ว่าเป็นบุคคลใด ตัวอย่างเช่น
ในคดี Sharks V.State อันเป็นคดีข่มขืนกระทำชำเราในประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลยอมรับพยานหลักฐานที่ว่ารอยเลือดที่เปื้อนเสื้อจำเลยอยู่ในหมู่ O และเลือดของหญิงที่ถูกทำร้ายก็อยู่ในหมู่เดียวกันจึงเป็นไปได้ว่า เลือดนั้นคือเลือดของผู้หญิงเจ้าทุกข์ ในขณะเดียวกันจำนวนคนที่มีเลือดหมู่ O 45% จึงไม่แน่ว่าเลือดดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าการพิมพ์ด้วยวิธีดังกล่าว ยังไม่เพียงพอในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนสิ้นสงสัย พยานหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นแต่เพียงพยานแวดล้อมกรณีที่จะโยงเข้าไปถึงพยานอีกตอนหนึ่งที่ว่ามีผู้พบจำเลยใกล้ ๆ ที่เกิดเหตุในระยะเวลากระชั้นชิดหรือไม่
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การตรวจเลือดเพื่อชี้ถึงบิดาเด็ก ก็บอกได้เพียงว่าพ่อและแม่ในหมู่ใดที่ถ่ายเลือดให้แก่เด็กเป็นโลหิตในหมู่ใดไม่ได้เท่านั้น อันเป็นการพิสูจน์ในทางปฏิเสธมิใช่เป็นการพิสูจน์เพื่อชี้ตัว เช่น โลหิตของเด็กเป็นหมู่ A และโลหิตของบิดาหรือมารดาที่รู้จักตัวเป็นหมู่ O ดังนั้นโลหิตของบิดาหรือมารดาที่ต้องการพิสูจน์จะต้องเป็น A หรือ AB จะเป็น B หรือ O ไม่ได้ เมื่อเป็น A หรือ AB แล้วก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เพราะในมนุษย์มีบุคคลที่มีเลือดอยู่ในหมู่ A และ AB ถึง 42% และ 3% ของพลเมือง ส่วนการตรวจขน หรือ ผมนั้นใช้พิสูจน์ตัวบุคคลได้แต่ไม่มีความแน่นอนอาจบอกได้เพียงว่าเส้นผมหรือขนที่ตรวจคล้ายเส้นผมหรือขน คนใดคนหนึ่ง แต่ไม่อาจยืนยันได้แน่นอนเช่นเดียวกับการตรวจหาอสุจิในคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งบอกได้เพียงว่าผู้เสียหายผ่านการถูกข่มขืนหรือไม่แต่ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าอสุจิเป็นของผู้ใด ทำให้การพิจารณาคดีจำต้องอาศัยพยานหลักฐานอื่นประกอบลำพังแต่วิธีการพิสูจน์ทางนิติเวชที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีคุณค่าเพียงพอในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนสิ้นสงสัย การพิสูจน์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ จึงจัดว่าเป็นวิธีการพิสูจน์บุคคลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน และเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ทั้งในการสอบสวนและในขั้นการพิจารณาคดี
ประวัติความเป็นมาในการนำลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ( DNA Fingerprinting ) มาประยุกต์ใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน
ในราวปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ.2526) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Professer A.J.Jeffrey ได้พัฒนาเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมศาสตร์ในการหาลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ของมนุษย์และถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบความเกี่ยวกับระหว่างบุคคลเป็นครั้งแรกในคดี Ghananian โดยในปี ค.ศ.1983 เด็กชายถูกปฏิเสธในการขอเข้าไปอยู่ในสหราชอาณาจักร เนื่องจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอังกฤษสงสัยว่าเด็กชายดังกล่าวจะมิใช่บุตรของ Ghananian ซึ่งมีสิทธิที่จะตั้งรกรากในประเทศอังกฤษ เพราะคำร้องขอของ Ghananian ต่อคณะกรรมพิจารณาอุทธรณ์กองตรวจคนเข้าเมืองไม่ประสบผลสำเร็จจากการพิสูจน์ทางการแพทย์ และทางนิติเวชศาสตร์ในขณะนั้น ( การตรวจหมู่เลือด ) เนื่องจากการพิสูจน์ด้วยวิธีดังกล่าวไม่มีผลที่แตกต่างกันระหว่างบุตรชายและหลานชายทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามก่อนการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของ Ghananian ปรากฏว่าได้มีการนำเทคนิคการตรวจหาลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ( Dna Fingerprinting ) มาพิสูจน์ความเป็นแม่-ลูก ระหว่าง Ghananian กับบุตรชาย จากผลการพิสูจน์พบว่าลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ของเด็กชายดังกล่าวเหมือนกับของ Ghananian ครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเป็นบุตรชายอย่างแน่นอน ( จากการศึกษาทางสถิติพบว่า โอกาสของความน่าจะเป็นนั้น เท่ากับหนึ่งในสามหมื่นล้านที่บุคคลอื่นจะมีลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ เหมือนกับ Ghananian ครั้งหนึ่ง ) เพราะลูกย่อมได้รับสารพันธุกรรม ( DNA:Deoxyribonucloic acid ) จากพ่อครึ่งหนึ่งและจากแม่ครึ่งหนึ่ง ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ของลูกจึงจะต้องเหมือนกับลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ของพ่อครึ่งหนึ่งและของแม่ครึ่งหนึ่ง
ถึงแม้ว่าผลการพิสูจน์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ในขณะนั้นจะสรุปได้ว่า เด็กชายดังกล่าวเป็นบุตรของ Ghananian อย่างแน่นอน แต่ในการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กองตรวจคนเข้าเมืองกลับไม่ได้นำผลการพิสูจน์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ มาพิจารณา เนื่องจากยังไม่มีความเชื่อถือในทฤษฏีของการพิสูจน์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1986 จึงเริ่มนำการพิสูจน์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ มาใช้ในการตรวจสอบกรณีร้องขอเข้ามาอยู่ในสหราชอาณาจักร ในกองตรวจคนเข้าเมือง และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินคดีอาญาเป็นครั้งแรกในคดี Regina V. Pitchfork อันเป็นคดีข่มขืนกระทำชำเราในประเทศอังกฤษ
ในปี ค.ศ.1983 หญิงสาววัยรุ่นได้ถูกข่มขืนและฆ่า เหตุเกิดใกล้กับหมู่บ้าน เอ็นเดอบี (Enderby) และคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้เนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่จะโยงไปสู่ตัวผู้ต้องสงสัยได้
3 ปีต่อมา (ค.ศ 1986) เด็กหญิง Regina ในหมู่บ้าน Enderby ได้ถูกข่มขืน แ และฆ่าในบริเวณใกล้เคียงกันอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร้องขอเพื่อนำการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์ DNA มาใช้ในการสืบสวนหาร่องรอยผู้กระทำความผิดและพบว่าน้ำอสุจิ ที่เก็บได้จากเหยื่อฆาตกรรมทั้งสองคดี เป็นของบุคคลคนเดียวกัน(ลายพิมพ์ DNA ที่สกัดได้จากน้ำอสุจิในทั้งสองคดีเหมือนกัน) แสดงว่า ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลคนเดียวกัน เจ้าหน้าตำรวจจึงได้นำตัวอย่างเลือดของผู้ต้องสงสัยเป็นชายอายุ 17 ปีมาตรวจหาลายพิมพ์ DNA ปรากฏว่าได้ผลแตกต่างกัน แสดงว่าผู้ต้องสงสัย มิใช่ผู้กระทำความผิดเขาจึงถูกปล่อยตัวไปอย่างรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร้องขอให้ผู้ชายในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียงที่มีอายุในช่วง 13 - 30 ปี ให้ตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหา DNA ซึ่งได้มีการตรวจประมาณ 5,000 คน โดยความสมัครใจในการให้ตัวอย่างเลือด ในการตรวจครั้งแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พบตัวผู้กระทำความผิด เนื่องจากผลการตรวจลายพิมพ์ DNA ให้ผลไม่เหมือนกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพิจารณาขยายขอบข่ายการตรวจหาลายพิมพ์ DNA ในกลุ่มชายที่มีอายุมากกว่านี้ และอยู่ในพื้นที่ที่ไกลออกไป ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบจากสายสืบว่า มีคนงานมาคุยในผับว่าตนได้ให้ตัวอย่างเลือด 2 ครั้ง แทนเพื่อนร่วมงานเพราะถูกว่าจ้าง จึงทำการสอบสวนและสามารถจับกุมนาย Pitchfork ได้ในที่สุดและจากผลการตรวจลายพิมพ์ DNA ของนาย Pitchfork ปรากฏว่าเป็นลายพิมพ์ DNA เดียวกันกับที่ตรวจได้จากอสุจิในทั้งสองคดี
ความสำคัญของการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์ DNA
DNA ในการใช้ประโยชน์ในการดำเนินคดีอาญา ดังนี้
1.1 ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ( DNA Flngerprinting ) ช่วยเชื่อมโยงระหว่างสถานที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหา และเหยื่ออาชญากรรม
1.2 ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ( DNA Flngerprinting ) เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบุคคล เพื่อให้ผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว
1.3 ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ( DNA Flngerprinting ) ใช้พิสูจน์ความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลที่มีความใกล้ชิดกันทางสายเลือด