• Welcome to เว็บบอร์ด ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5.
 

'วีออส-วีโก้ -ดีแมคซ์'รถฮิตใบสังโจรกรุง

เริ่มโดย chusit, 01 พฤษภาคม 2012 10:10

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

chusit


'วีออส-วีโก้ -ดีแมคซ์'รถฮิตใบสังโจรกรุง

จยย.ด้วย เวฟ-ฟีโน่ 'ศปจร.น.' แจ้งเตือน


'เมธี กุศลสร้าง' รองผบช.น. เผยสถิติโจรกรรม 'รถยนต์-จยย.' ในกทม. ห้วง 2 ปีที่ผ่านมา พบ 'โตโยต้า- อีซูซุ' ซิวแชมป์หัวตารางในฐานะรถตกเป็นเหยื่อโดนลักขโมยหายสาบสูญไปจากท้องถนน อาคารบ้านเรือน และตามห้างร้านต่างๆ มากที่สุด โดยในฝั่งของโตโยต้า 'วีออส-ยาริส-วีโก้' โดนสอยหายไปมากสุด ส่วน 'ดีแมคซ์' กระบะยอดนิยมจากค่าย อีซูซุนั้นก็เป็นที่หมายตาของคนร้ายไม่แพ้กัน ส่วนจยย.ที่ถูกโจรกรรมสูงสุดสองยี่ห้อแรก คือฮอนด้าเวฟกับยามาฮ่าฟีโน่

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.เมธี กุศลสร้าง รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปจร.น.) แถลงเปิดเผยสถิติการโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ในพื้นที่กทม. ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2544 รวมทั้งเดือนตุลาคม 2554 ถึงกุมภาพันธ์ 2555

พล.ต.ต.เมธีแถลงว่า ในห้วงตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2544 มีรถยนต์ทุกยี่ห้อถูกโจรกรรมในเขต กทม.ทั้งสิ้น 502 คัน ประกอบด้วยโตโยต้า 156 คัน คิดเป็นร้อยละ 31.08, อีซูซุ 150 คัน คิดเป็นร้อยละ 29.9, นิสสัน 53 คัน คิดเป็นร้อยละ 10.6, มิตซูบิชิ 41 คัน คิดเป็นร้อยละ 8.2, ฮอนด้า 39 คัน คิดเป็นร้อยละ 7.8 และอื่นๆ อีก รวม 63 คัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ประเภทรถเก๋งโตโยต้าที่ถูกโจรกรรมนั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นรุ่นวีออสและยาริส ขณะที่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหรือกระบะโตโยต้า จะเป็นรุ่นไฮลักซ์ วีโก้ ส่วนอีซูซุจะเป็นรุ่นดีแมคซ์ และนิสสันรุ่น ฟรอนเทียร์ โดยเฉพาะรถขับเคลื่อน 4 ล้อ

"สำหรับสถานที่เกิดเหตุโจรกรรมรถมากที่ สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ ถนน-ตรอก-ซอย เกิดเหตุ 232 คดี สวนสาธารณะ-ชุมชนเกิดเหตุ 145 คดี เคหสถาน เกิดเหตุ 71 คดี ห้างสรรพสินค้า-ร้านค้า เกิดเหตุ 30 คดี อู่ซ่อมรถยนต์ 15 คดี และช่วงเวลาเกิดเหตุรถยนต์ถูกโจร กรรมมากที่สุดระหว่าง 18.00-04.00 น. แยกเป็นช่วงเวลา 16.01-20.00 น. เกิดเหตุ 137 คดี เวลา 20.01-24.00 น. 121 คดี เวลา 00.01-04.00 น. 103 คดี เวลา 08.01-12.00 น. 48 คดี และเวลา 04.01-08.00 น. 47 คดี" พล.ต.ต. เมธีเผย

รอง ผบช.น.กล่าวว่า เหตุโจรกรรมจักร ยานยนต์เกิดขึ้น 3,509 คัน ยี่ห้อถูกโจร กรรมสูงสุด 5 อันดับ อันดับหนึ่ง คือ ฮอนด้า 2,021 คัน คิดเป็นร้อยละ 57.6 โดยเฉพาะรุ่นเวฟ หายมากสุด อันดับสองยี่ห้อยามาฮ่า 1,261 คัน คิดเป็นร้อยละ 35.9 โดยเฉพาะรุ่นฟีโน่ หายมากที่สุด อันดับสามยี่ห้อคาวาซากิ 71 คัน คิดเป็นร้อยละ 2 รุ่นเคเอสอาร์หายมากสุด ตามด้วยยี่ห้อซูซูกิ 37 คัน คิดเป็นร้อยละ 1.1 และอันดับห้า เวสป้า 7 คัน คิดเป็นร้อยละ 0.2 ยี่ห้ออื่นๆ รวม 112 คัน สถานที่ที่คนร้ายลงมือลักจักรยานยนต์มากที่สุด ได้แก่ ถนน-ตรอก-ซอย เกิดเหตุ 1,700 คดี สวนสาธารณะ-ชุมชน 1,114 คดี เคหสถาน 542 คดี ห้างสรรพสินค้า 100 คดี และสถานที่ราชการ 37 คดี

"ช่วงเวลาจักรยานยนต์หายมากที่สุดพบว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับรถยนต์หาย คือ ระหว่าง 18.00-04.00 น. แยกเป็น เวลา 16.01-20.00 น. เกิดเหตุ 911 คดี, เวลา 20.01-24.00 น. 837 คดี, เวลา 00.01-04.00 น. 800 คดี, เวลา 04.01-08.00 น. 333 คดี และเวลา 12.01-16.00 น. 324 คดี" รอง ผบช.น.ระบุ

จากนั้นพล.ต.ต.เมธีเปิดเผยถึงสถิติรถยนต์และจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหาย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงกุมภาพันธ์ 2555 ว่า รถยนต์หายจำนวน 134 คัน แบ่งเป็นยี่ห้ออีซูซุ โดยเฉพาะรุ่นดีแมคซ์ 50 คัน, โตโยต้ารุ่นไฮลักซ์ วีโก้ 34 คัน, มิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน 11 คัน, ฮอนด้า 9 คัน, นิสสันรุ่นฟรอนเทียร์ 6 คัน อื่นๆ 24 คัน หายไปจากสถานที่ต่างๆ ถนน-ตรอก-ซอย 70 คดี เคหสถาน 13 คดี อาคาร-ลานจอดรถ 7 คดี อาคารชุด-แฟลต 6 คดี สะพานคนข้าม 3 คดี ช่วงเวลาที่หาย 12.01-18.00 น. เกิดเหตุ 56 คดี เวลา 06.01-12.00 น.เกิดเหตุ 48 คดี เวลา 18.01-24.00 น.เกิดเหตุ 24 คดี และเวลา 00.01-06.00 น.เกิดเหตุ 6 คดี

ด้านรถจักรยานยนต์หาย 1,143 คัน แบ่งเป็นยี่ห้อฮอนด้า 662 คัน รุ่นเวฟหายมากที่สุด ยามาฮ่า 254 คัน รุ่นฟีโน่มากที่สุด คาวาซากิ 15 คัน เป็นรุ่นเคเอสอาร์มากสุด ซูซุกิ 7 คัน รุ่นสแมช ยี่ห้ออื่นๆ รวม 205 คัน หายไปจากถนน-ตรอก-ซอย เกิดเหตุ 550 คดี ลานจอดรถ 115 คดี อาคารชุด-แฟลต 105 คดี เคหสถาน 80 คดี ตลาด 31 คดี ช่วงเวลาที่จักรยานยนต์หายสูงสุด ช่วงเวลา 12.01-18.00 น. เกิดเหตุ 495 คดี เวลา 18.00-24.00 น. 296 คดี เวลา 06.01-12.00 น. 278 คดี และช่วงเวลา 00.01-06.00 น. 69 คดี


ข่าวสดรายวัน
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdPREF4TURVMU5RPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=
TWpBeE1pMHdOUzB3TVE9PQ==

chusit


"เมธี กุศลสร้าง" หัวหน้าศปจร.น. แนะนำวิธีการป้องกันรถโดนขโมย

วันที่ 1 พ.ค. ที่ บช.น. พล.ต.ต.เมธี กุศลสร้าง รอง ผบช.น. หัวหน้า ศปจร.น. (ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล) กล่าวถึง มาตราการป้องกันปราบปรามของ ศปจร.น. หลังได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ให้มารับผิดชอบดูแล ว่า ใช้ 3 มาตรการหลัก คือ 1 ป้องกัน 2 ปราบปราม 3 ประชาสัมพันธ์

พล.ต.ต.เมธี ระบุว่า การป้องกัน ก็ให้ทุกพื้นที่ในนครบาลตั้งจุดตรวจค้นจุดสกัด เมื่อเกิดเหตุรับแจ้งเหตุรถยนต์รถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรม จุดตรวจจุดสกัดจะต้องตรวจค้นอย่างเข้มวงด ไม่ให้คนร้ายขับรถที่ขโมยมาออกไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย การปราบปราม ให้ใช้มาตรการสืบสวนจับกุมบุคคลที่มีประวัติเป็นแก๊งที่ลักรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งอู่รถที่มีพฤติกรรมรับซื้อรถยนต์ไปขำแหละอะไหล่แยกชิ้นส่วนขาย ส่วนการประชาสัมพันธ์ แนะนำข้อควรปฏิบัติในการป้องกันทรัพย์สินรถยนต์รถจักรยานยนต์แก่ประชาชน  ทาง บช.น.ได้ตั้งศูนย์ ปจร.น. ขึ้นมาเมื่อตนได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ได้ให้ ชุดทำงานที่เป็นตัวหลักในการทำงาน คือ พ.ต.อ.  พีระพงศ์ วงษ์สมาน  และ พ.ต.ท.อรรถพร สุริยเลิศ รวมรวมบุคคลเป้าหมายที่เกี่ยวข้องคดีลักรถยนต์จำนวน 7 1หมายจับจัดทำโปสเตอร์ พิมพ์แจกจ่ายไปทุก บก.ทุก สน.ท้องที่ให้ประชาชนทราบและเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่ายช่วยกันจับกุมบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ  เป็นมาตรการในการกดดันไม่ให้เข้ามาก่อเหตุในพื้นที่นครบาล แต่ถ้ายังไม่หยุด ยังหาโอกาสมาก่อเหตุอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปจร.น.เราก็จะใช้มาตรการเด็ดขาดในการจับกุม

หน.ศปจร.น. บอกอีกว่า บรรดาร้านซ่อมรถและจำหน่ายอะไหล่มือสองในพื้นที่ บก.น.1-9 ทั้ง กทม.ว่า  มีร้านที่ได้รับอนุญาตจำนวน 399 ร้าน  ที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 32 ร้าน รวม 431 ร้าน
สำหรับพฤติการณ์ของการกระทำผิด มีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่คนร้ายใช้บ่อยคือ ใช้กุญแจพิเศษ ที่ในวงการเรียกกันว่า เหล็กปีกเครื่องบิน ซึ่งทำจากเหล็กที่แข็งแรงเป็นพิเศษ มีรูปลักษณะคล้ายกุญแจ เมื่อแทงเข้าไปในรูกุญแจประตูและบิดแรงๆ ความเข็งของกุญแจพิเศษดังกล่าวจะทำลายระบบตัวล็อคประตู และสามารถที่จะเปิดประตูรถเข้าไปต่อสายตรงสตาร์ทเครื่องขับรถไปได้

อีกวิธีที่คนร้ายนิยม คือ การดึงยวงกุญแจประตูหรือฝาถึงน้ำมัน จากนั้นนำเอายวงกุญแจไปทำกุญแจขึ้นใหม่เพื่อนำมาสตาร์ทเครื่องยนต์ขับรถไป

วิธีอื่นๆ ที่คนร้ายใช้มีอีก เช่น การลักลอบปั๊มกุญแจ  ส่วนรถจักรยานยนต์ วิธีที่คนร้ายมักใช้คือการหักคอแล้วต่อสายตรงสตาร์ทเครื่องแล้วขับขี่เอารถไป

พล.ต.ต.เมธี หัวหน้า ศปจร.น. กล่าวต่อ สำหรับเส้นทางการหลบหนีนำรถยนต์ไปนอกประเทศ คือ ทางภาคอีสาน นำออกไปทาง จ.บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี โดยวิธีใช้เรือ หรือแพข้ามแม่น้ำโขงทางภาคเหนือ จะขับรถไปทาง อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย  อ.แม่สอด  อ.แม่ระมาด อ.อุ้มผาง จ.ตาก และ อ.บ้านโคก จ.
อุตรดิตถ์ ทางภาคตะวันออก ไปทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี  ทางภาคกลาง ได้แก่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

หัวหน้า ศปจร.น. กล่าวว่า ทาง ศปจร.น. ได้จัดพิมพ์โปสเตอร์หมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องคดีลักทรัพย์รถยนต์ และแผ่นพับคู่มือแนะนำเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แจกจ่ายไปทุก บก.และ สน.เพื่อแจกจ่ายประชาชน ให้ระวังทรัพย์สินก่อนถูกคนร้ายโจรกรรม ให้ปฏิบัติเป็นประจำ คือ

1 ล็อคมันไว้ คือ ให้ล็อคกุญแจไม่ว่าจะจอดรถอยู่ในหรือนอกบ้าน นานหรือครู่เดียวก็ตาม จะลดโอกาสหายได้ 3.55 เท่า และควรล็อคอย่างน้อย 2 ระบบ ต่างรูปแบบและต่างยี่ห้อจะช่วยป้องกันรถหายได้มาก  ถ้าซื้อรถใหม่ ควรเปลี่ยนระบบกันขโมยใหม่เสมอ ระบบกันขโมยที่ติดตั้งมาก่อนซื้อรถอาจถูกสำเนากุญแจไว้แล้ว

2.ปกปิดมันไว้ คือ ก่อนให้ใครเข้ามาใกล้บ้าน หรือในบ้านต้องปกปิดทรัพย์สินมีค่าเสมอ  ระวังพวกที่ชอบสอดรู้สอดเห็น เช่น พนักงานติดตั้งเครื่องไฟฟ้า หรือคนงานสำนักงานที่ชอบถามเรื่องซอกแซกในบ้าน มักจะเป็นสายให้โจร หรือเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้  อย่างทำตัวอวดร่ำรวย เช่นสวมใส่เครื่องประดับมีค่า หรือจอดรถไว้ให้คนที่ผ่านหน้าบ้านเห็นได้ง่าย ควรมีผ้าคลุมแบบราคาไม่แพงมาปิดคลุมรถเอาไว้ถ้าทำได้ โดยเลือกแบบราคาไม่แพง เพราะยิ่งแพงจะยิ่งเสี่ยง  ไม่ควรวางสิ่งของมีค่าไว้ในรถยนต์ หากจำเป็นให้ปิดบังซ่อนให้มิดชิด เก็บไว้กระโปรงท้ายดีกว่าวางล้อตาเบาะหลัง

3.ติดตั้งเครื่องกันขโมยแบบส่งเสียงดัง ควรเป็นเครื่องป้องกันขโมยแบบเสียงดังแปลกๆ อย่างเหมือนเสียงแตรค้าง  เป็นไปได้ควรติดตั้งระบบเตือนภัยขโมยผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ GPS เพื่อระบุพิกัดให้ตำรวจติดตามได้ทันทีเมื่อถูกโจรกรรม ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด หรือระบบความปลอดภัยทั้งในตัวบ้าน โรงรถ และนอกบ้าน

4.สำหรับรถจักรยายนต์ ให้ทำห่วงยึดติดกับพื้น แล้วล่ามโซ่หนักๆ ยึดติดรถไว้ พร้อมล็อคกุญแจหลายๆ ระบบด้วยจะยิ่งป้อนกันได้ดีมากขึ้น

5.ทำให้รถใช้การไมได้ชั่วคราว เช่นถอดฟิวส์รถออก ติดตั้งระบบตัดไฟ  ซึ่งโจรและขโมยส่วนใหญ่มักจะชอบขโมยอะไรที่ง่ายๆ มากกว่ายากๆ และต้องใช้เวลาในการทำงานเร็วๆ มากกว่าใช้เวลาทำงานนานๆ

6.เลือกที่จอดรถให้รอบคอบ อย่าจอดในจุดลับตาคน โจรขโมยทำงานได้ง่าย เลือกจอดที่มีคนอยู่ประจำ จอดในจุดที่มีแสงสว่างพอ  ถ้ามีรถคันอื่นขับตาม ควรพิจารณาเปลี่ยนแผนการเดินทาง และรีบไปยังที่ที่ปลอดภัย  ถ้าพบว่าฝาเติมน้ำมันชนิดที่ใช้กุญแจไขหายไปให้คิดไว้ก่อนเสมอว่ากุญแจถูกปั๊มไปแล้ว
7.ระมัดระวังพวกที่ชอบลองรถ เมื่อซื้อหรือขายรถมาใช้ ไม่ควรให้ใครมาขอลองขับรถเรา ถ้ามัดหมายขอดูรถเมื่อซื้อขาย อย่าไปนัดในที่เปลี่ยว  ควรล้างรถด้วยตัวเอง เพราะพนักงานล้างรถนำไปลองขับ เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรอย่างยิ่ง โอกาสถูกก๊อปปี้กุญแจและทำสำเนาสัญญาณกันขโมย ก่อนจะย้อนกลับมาขโมยรถในเวลาต่อมาได้  ถ้าต้องใช้บริการล้างรถ ให้ไปเฉพาะกุญแจดอกเดียว อย่าให้กุญแจล็อคทั้งระบบอื่นไปด้วย  เมื่อนำรถไปซ่อม ควรเฝ้าดูและรอรับรถกลับ หากต้องฝากไว้ให้เลือกอู่ที่รู้จักและไว้ใจได้

8.ทำร่อยรอยไว้ ขโมยอาจนำรถไปขายทั้งคัน หรือถอดขายเป็นชิ้นๆ ควรจดหมายเลขเครื่องถ่ายรูปเลยเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ เอาไว้  ติดชื่อหรือเครื่องหมาซ่อนไว้ในที่พิเศษในการช่วยให้ตำรวจติดตามรถได้ดีขึ้น

9.ลดความเสี่ยงด้วยการเลือกใช้รถยี่ห้อและรุ่นที่ดีอันดับสอง ไม่ใช้รุ่นยอดนิยม เพื่อนบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตา ผลัดกับเฝ้าบ้าน หรือรวมกลุ่มกันจ้าง รปภ.ไว้ช่วยอีกแรงจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น

10.การซื้อรถมาเมื่อดาวน์รถมาแล้ว ไม่นำไปให้ผู้อื่นเช่า หรือดขายดาวน์ โดยทำสัญญาโอนลอย ขายดาวน์ที่ถูกต้องต้องพากันไปเปลี่ยนสัญญาซื้อขายที่ไฟแนนท์เท่านั้น

11.เมื่อรถหายทำอย่างไร ขอให้แจ้งผ่านทางสายด่วน 1599 หรือ เว็บไซด์ WWW:lostcar.go.th ซึ่งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลรถหาย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ที่ โทร.02-354-5162 ศูนย์ ปจร.น. 71/1 ถนนศรีอยุธยา ทุ่งพญาไท ราชเทวี กทม. ซึ่งจะช่วยติดตามรถที่ถูกโจรกรรม และสามารถตรวจสอบรถว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่


ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:03 น. 

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek5UZzJOalkyTVE9PQ==&sectionid=